“ปารีณา”รอด ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้องคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ

08 ก.ย. 2566 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 15:15 น.

“ปารีณา ไกรคุปต์”รอด ศาลฎีกานักการเมืองยกคำร้อง ป.ป.ช.ฟ้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินรายการเงินให้กู้ยืม และ พระสมเด็จบางขุนพรหม-พระสมเด็จนางพญาพิษณุโลก อันเป็นเท็จ

วันนี้ (8 ก.ย.66) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคําพิพากษาคดีหมายเลขดําที่ อม.๒๑/๒๕๖๕ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๒๕/๒๕๖๖ ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ผู้ถูกกล่าวหา 

คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคําร้องเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด ข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ๒ รายการ

ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๑๔ วรรคสอง (๑), ๑๖๗ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๘๑ ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ

ศาลไต่สวนพยานผู้ร้อง ๒ นัด พยานผู้ถูกกล่าวหา ๑ นัด

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า สําหรับรายการเงินให้กู้ยืม รายนาย ป. นั้น ทางไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นาย ป. ยอมรับว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้เงินสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้ง ประกอบกับพฤติการณ์ที่นาย ป. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาโพธาราม และ สั่งจ่ายเช็คมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหลักประกัน 

                        “ปารีณา”รอด ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้องคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาขอหลักประกันเพิ่ม นาย ป. ได้นําโฉนดที่ดินไปให้ ผู้ถูกกล่าวหายึดถือ และนาย ป. เคยบอกนาย ส. ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง และ ขอให้นาย ส. ไปเป็นเพื่อนเพื่อไปทําสัญญากู้ยืมที่ผู้ถูกกล่าวหาให้การสนับสนุนนาย ป. ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง  

โดยนาย ส. ได้ยินผู้ถูกกล่าวหาพูดทวงเงินจากนาย ป. เชื่อว่านาย ป. ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง เลือกตั้งจากผู้ถูกกล่าวหาและไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานการส่งมอบเงิน 

แต่ทางไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิปลอม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากสํานวนการไต่สวนของผู้ร้องว่า มีการสมคบกันทําสัญญาเงินกู้ขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาจึงเข้าใจโดยสุจริต ว่า ตนมีสิทธิตามสัญญาเงินกู้ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อผู้ร้องสําหรับรายการนี้ 

ส่วนรายการพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย และพระสมเด็จนางพญาพิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า การยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ถูกกล่าวหาในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงรายการพระเครื่องทั้งสององค์ โดยขอใช้เอกสารชุดเดิมทั้งหมด 

                             “ปารีณา”รอด ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้องคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ

ประกอบกับนาย อ. อดีตสามีของผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคําว่า นาย อ. เป็นเจ้าของพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย (กรุใหม่) และ พระสมเด็จนางพญา พิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ ซึ่งเป็นองค์เดียวกับที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของคู่สมรส

การจัดทําบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา กรณีพ้นจากตําแหน่ง ครบ ๑ ปี ในปี ๒๕๕๗ นาย อ. มอบให้นายบุรินทร์เลขานุการเป็นผู้รวบรวมเอกสารนําไปยื่นต่อผู้ร้อง เนื่องจากนาย อ. กําลังจะหย่ากับผู้ถูกกล่าวหา 

นาย อ. เคยให้ผู้ถูกกล่าวหายืมใส่พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย (กรุเก่า) และ พระนางกําแพง หลังจากหย่ากันผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้คืนให้ พระเครื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาครอบครองเป็นคนละองค์กับ พระเครื่องสององค์ดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคําว่า หลังจดทะเบียนหย่าผู้ถูกกล่าวหาครอบครองพระเครื่องสององค์เรื่อยมา เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของพระเครื่องทั้งสององค์ที่อยู่กับตน และเป็นองค์เดียวกับที่เคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง 

สอดคล้องกับที่นาย พ. ผู้เชี่ยวชาญ ให้ถ้อยคําว่า คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อง ย่อมไม่อาจแยกแยะข้อแตกต่างของ พระเครื่องทั้งสององค์ได้ เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจมาโดยตลอดว่า พระเครื่องทั้งสององค์ที่ได้รับมาจากนาย อ. ระหว่าง สมรสและอยู่ในความครอบครองเรื่อยมา คือ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย (กรุใหม่) และพระสมเด็จ นางพญาพิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ ที่ยื่นและอ้างไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ

โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าพระเครื่องสององค์ที่นํามาแสดงต่อผู้ร้อง เป็นคนละองค์กับที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ 

พฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาแสดงรายการ พระเครื่องไม่ตรงกับที่มีอยู่จริง และระบุราคาสูงกว่าความเป็นจริง กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อผู้ร้อง พิพากษายกคําร้อง