"บัญญัติ"ตอกกลับ"เดชอิศม์"ยันมติปชป.งดออกเสียงโหวตนายกฯ

30 ส.ค. 2566 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2566 | 18:03 น.

"บัญญัติ บรรทัดฐาน" ตอกกลับ "เดชอิศม์ ขาวทอง" งัดมติปชป. 21 ส.ค.ยัน "งดออกเสียง" โหวตนายกฯ ข้องใจไม่มีพรรคการเมืองใดเชิญเข้าร่วมรัฐบาล แล้วไปยกมือสนับสนุนนายกฯ เขาได้อย่างไร

วันนี้(30 ส.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงกรณี นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรคปชป. พาดพิงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย เนื่องจากมีการส่งผู้สมัครคนอื่นแทนตน ว่า จำได้แน่นอนว่าสมัยนั้นตอนที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค หลักใหญ่ที่ใช้ในการตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มี 2 หลักการ หลักแรกมักให้ ส.ส.ที่มีอยู่ในจังหวัดพูดจา และลงความเห็นกันเอง และหลักที่สองใช้หลักคณะกรรมการบริหาร โดยเฉพาะให้รองหัวหน้าพรรคเป็นหลัก

“ยืนยันผมตัดสินใจไม่ผิด เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรค ปชป.ได้ ส.ส.สงขลา ยกจังหวัดเช่นกัน จึงไม่เข้าใจว่าทำไม นายเดชอิศม์ จึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเวลานี้”

นายบัญญัติ ยืนยันว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. พรรคมีมติให้ "งดออกเสียง" นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน ในวันดังกล่าวตนเป็นคนสรุปด้วยตัวเอง พูดกันเพียง 2 แนวทาง คือ จะงดออกเสียง หรือ ไม่เห็นชอบ

คนเริ่มเรื่องนี้คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา โดยบอกว่า "เมื่อเที่ยวนี้พรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล แนวทางมติก็มีเพียงงดออกเสียงกับไม่เห็นชอบเท่านั้น" ซึ่งถูกต้อง เพราะในทางปฏิบัติที่แล้วมา ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เขาไม่เชิญเข้าร่วมรัฐบาล แล้วอยู่ๆ ไปยกมือสนับสนุนนายกฯ ของเขา ตนยังแปลกใจว่าเที่ยวนี้ไปไกลแบบนั้นได้อย่างไร

พรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมีอยู่ 2 อย่างคือ งดออกเสียง กับไม่เห็นชอบ งดออกเสียงคือ ปฏิเสธแบบสุภาพ แม้กระทั่ง นายเดชอิศม์ เองก็ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมวันที่ 21 ส.ค. อยากให้งดออกเสียง หลังจากพูดกันพอดูออกว่าอยากให้งดออกเสียงจำนวนมาก นายชวน หลีกภัย ก็ลุกขึ้นบอกว่า ขอลงมติไม่เห็นชอบ เพราะสู้กับระบอบทักษิณมายาวนานเป็นพิเศษ และวันนี้ก็ไม่ทราบว่าระบอบทักษิณเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

ที่สำคัญ อยากให้คนใต้สบายใจว่าจุดยืนยังมั่นคงแข็งแรง จากนั้นตนลุกขึ้นอภิปรายต่อ สุดท้าย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลุกขึ้นพูดว่า คงไม่ต้องลงมติ ซึ่งหมายความคงไม่ต้องนับคะแนนกัน เพราะฟังแล้วก็พอรู้ว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ใช่แปลว่าจะไม่มีมติ ซึ่งจำได้ว่านายเดชอิศม์ ยังลุกขึ้นทักท้วงว่า ไม่ต้องมีมติหรือ ซึ่งตนก็ได้บอกว่าสิ่งที่นายจุรินทร์พูด หมายความว่าไม่ต้องลงคะแนน

เพราะฟังดูแล้วเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ถ้าเช่นนั้นก็มีมติให้งดออกเสียง จึงถือว่าวันนั้นมีมติพรรคแน่นอน และที่กล่าวหาว่าตนและท่านชวนฝืนมติพรรค ก็ไม่ใช่

นายบัญญัติ กล่าวต่อ ส่วนกระแสที่ว่า นายชวน จะขับ ส.ส.ออกจากพรรคนั้น คิดว่าไม่ใช่วิสัยของนายชวน เพียงแต่ว่าอะไรไม่ถูกต้อง นายชวน ก็ทักท้วง เรื่องจะให้ขับกันเป็นเรื่องที่สมาชิกส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวกันเมื่อหลายวันก่อน ซึ่งเป็นปกติของพรรค 

“วันดีคืนดีเมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งเห็นว่า ส.ส.ไปลงคะแนนไม่น่าจะถูกต้องในความรู้สึกของเขา ก็ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้พรรคพิจารณา ซึ่งพรรคจะไม่พิจารณาคงไม่ได้ และทราบว่า นายจุรินทร์ กำลังเล็งหาคนมาเป็นประธานคณะกรรมการมาทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้จะทำความชัดเจนได้มากขึ้น ทั้งเรื่องพรรคมีมติหรือไม่มีมติ และใครกันแน่ที่กระทำการฝ่าฝืนมติพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้จบ ไม่คาราคาซังกันอีก”

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ภายหลังลงมติโหวตนายกฯ ผ่านพ้นไป มี ส.ส.ใหม่มาปรับทุกข์ว่า ไม่สบายใจที่ลงมติเห็นชอบ ตนก็ได้ให้สติไปว่า อาจมีอีกหลายคนที่คิดแบบเดียวกัน และให้คำแนะนำว่า การทำการเมืองมีเพื่อนเป็นเรื่องดี แต่อย่าตามใจเพื่อนจนเสียหลัก 

“นักการเมืองมีศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ สามารถขัดใจเพื่อนโดยเพื่อนไม่โกรธ เช่น การตัดสินใจทางการเมืองต้องคิดหลายปัจจัย นอกเหนือจากพรรคแล้ว ต้องมองว่าประชาชนคิดอย่างไร การเป็นนักการเมืองความคิดของตัวเองสำคัญ แต่ความคิดของคนอื่นสำคัญกว่า โดยเฉพาะความคิดของประชาชน”

ทั้งนี้ กรณีที่ไปลงคะแนนกัน ตนคิดว่าอันตราย เพราะในความรู้สึกของชาวบ้านอาจมองว่า เราอยากเป็นรัฐบาลมากเหลือเกินหรือไม่ และอาจมองว่าเราตกเป็นเหยื่อของเขาแล้ว

“ได้ยิน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ยังเปิดกว้างสำหรับทุกพรรคการเมือง พรรคใดอยากเข้าเป็นสมการก็ดูวันโหวตนายกฯ ซึ่งตรงนี้ผิดธรรมเนียม ไม่มีใครลงคะแนนให้นายกฯ ง่ายๆ เว้นแต่จะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่า จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และตกลงกันแล้วถึงตำแหน่งรัฐมนตรี”