เอกชนหวังโหวต"เศรษฐา ทวีสิน"ฉลุย ตั้งทีมเศรษฐกิจเก่งมีศักยภาพ

22 ส.ค. 2566 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2566 | 13:03 น.

เอกชนหวังโหวต"เศรษฐา ทวีสิน"ฉลุย ตั้งทีมเศรษฐกิจเก่งมีศักยภาพ ระบุต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในรูปแบบทีมเดียวกัน ไม่ใช่คนละทีม หรือต่างคนต่างทำ ชี้เมื่อความมั่นใจกลับมาจะเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟู และพัฒนาประเทศ

22 ส.ค. 66 มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวให้เห็นกรณีที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่มีมติร่วมกัน ซึ่งชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน เองก็เปน 1 ใน 3 แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดแบบเปิดเผย และต้องการที่จะนำเสนอจ่อที่ประชุมสภาฯเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ เพื่อผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคให้เป็นนายกฯ

โดยเพื่อไทยก็ได้ดำเนินการรวบรวมเสียง และนำเสนอสมการใหม่ซึ่งมีควมมั่นใจว่าสมการดังกล่าวเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึง สว. ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ 
 

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังยืนยันคำเดิมว่าต้องการให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านไปได้ด้วยดี และดำเนินการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วเพื่อแก้ปัญหา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว 

ส่วนประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ค่อยมาช่วยกันดำเนินการในระบบกลไกลของสภา รวมถึงรัฐสภา และการเมืองต่อไป 

"เมื่อถึงจุดหนึ่งหากสามารถทำได้ดีทุกฝ่ายก็จะให้การยอมรับ แต่หากทำได้ไม่ดีก็คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือการเว้นว่างโดยเปล่าประโยชน์ จากการไม่ทำอะไรเลยเป็นเวลาหลายเดือนแบบที่เคยผ่านมาจะน่ากลัวยิ่งกว่า" 
 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปอีกว่า ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะผ่านอย่างราบรื่น เพื่อจะได้มีนายกรัฐมนตรีคนที่  30 และมี ครม. ซึ่งภาคเอกชนก็เพียงต้องการฝากไปว่า ให้ช่วยพิจารณากระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในรูปแบบทีมเดียวกัน ไม่ใช่คนละทีม หรือต่างคนต่างทำ

"ต้องเลือกทั้งคนเก่ง คนดีที่สังคมยอมรับในฝีมือ ยิ่งหากมีประสบการณ์ดีด้วยยิ่งจะดีมาก รวมถึงทำงานกันได้อย่างเข้าขา และสร้างความเชื่อมั่น เมื่อประกาศออกมาเป็นที่พอใจของประชาชน โดยเมื่อความมั่นใจกลับมาก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู และพัฒนาประเทศในทุกระดับร่วมกัน