"ทักษิณ"ถือฤกษ์ 7 เดือน7 กลับไทยโยงตำนานสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

19 ส.ค. 2566 | 19:06 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 19:27 น.
550

"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทย 22 สิงหาคม 2566 ฤกษ์ดูยาม ตามตรงกับปฏิทินจีนวันที่ 7 เดือน 7 วันแห่งตำนานความรักของจีน เชื่อมโยงกับเรื่องเล่าสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

วันที่ 22 สิงหาคม ที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ นอกจากจะฤกษ์ดี มีหลายอย่างให้คนไทยได้ลุ้น ไม่ว่าจะเป็นการโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 และการกลับประเทศไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันดังกล่าวนี้ เมื่อดูตามปฏิทินจีน ก็จะพบว่า เป็นวันที่ 7 เดือน 7 หรือวันแห่งความรักของชาวจีน หรือที่เรียกว่า เทศกาล “ชีซี” ที่ไปเชื่อมโยงกับตำนานสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ บีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า "เดิมผมกำหนดกลับวันที่ 31 ก.ค. แต่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุด ผมจึงเลื่อนมาเป็นวันที่ 10 ส.ค. แต่มีคนไปดูฤกษ์ดูยาม ให้เป็นวันที่ 22 ส.ค. เขาบอกว่าเป็นวันดี ซึ่งผมไม่เชื่อ แต่ไม่อยากขัดใจ อยากให้ทุกคนรักกัน อยากให้บ้านเมืองสงบ"

สำหรับเทศกาลวันแห่งความรักของชาวจีน ที่ไปเชื่อมโยงกับตำนานสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัวนั้น ตามตำนานเรื่องนี้ก็มีหลากหลายเรื่องเล่าที่มีทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกันบ้าง ซึ่งจะมีแบบไหนบ้างนั้น วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมเรื่องเล่าขานในตำนานมานำเสนอดังนี้

ตำนานรักหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า หรือ ตำนานเจ็ดนางฟ้า 
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ได้บอกเล่าเกี่ยวกับตำนานเรื่องนี้ โดยระบุว่า หนุ่มเลี้ยงวัวคนหนึ่งชื่อ หนิวหลาง (ชื่อแปลว่า เด็กเลี้ยงวัว) บังเอิญไปพบนางฟ้าเจ็ดองค์เสด็จลงจากสวรรค์เพื่อมาเล่นน้ำในทะเลสาบ วัววิเศษของเขากระซิบบอกความลับสวรรค์ เขาจึงไปขโมยเสื้อผ้าของพวกนางมาแล้วคอยเฝ้าดู เมื่อนางฟ้าทั้งเจ็ดองค์เล่นน้ำเสร็จแล้วหาเสื้อผ้าของตนไม่พบ จึงให้น้องสาวคนสุดท้องชื่อ จือหนี่ (ชื่อแปลว่าหญิงทอผ้า ) เพื่อมาเจรจาขอเสื้อผ้าคืน 

หนิวหลางขอให้นางแต่งงานกับเขา และนางก็ยินยอม นางฟ้าผู้พี่ทั้งหมดจึงได้กลับคืนสู่สวรรค์ ส่วนจือหนี่ได้อาศัยอยู่กับหนิวหลาง และเป็นภรรยาที่ดียิ่ง หนิวหลางรักนางมาก ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน จือหนี่มีฝีมือในการทอผ้า ผ้าที่นางทอจะมีสีสันสวยงามไม่มีผู้ใดทัดเทียมได้ พวกเขานำไปขายได้เงินดีและมีชีวิตที่ดี

เง็กเซียนฮองเฮาผู้เป็นมารดาของเหล่านางฟ้า เมื่อได้ทราบว่าบุตรสาวของตนไปแต่งงานกับคนธรรมดาก็กริ้วโกรธ ออกคำสั่งให้จือหนี่กลับสู่สวรรค์ ฝ่ายหนิวหลางเมื่อกลับมาพบภรรยาของตนหายตัวไปก็เศร้าโศกเสียใจ ทันใดนั้นวัวของเขาก็เอ่ยคำพูดออกมาอีกครั้ง บอกให้หนิวหลางฆ่าตนเสีย แล้วเอาหนังคลุมร่างเพื่อจะได้ไปสวรรค์ตามหาภรรยาได้ 

หนิวหลางฆ่าวัวด้วยน้ำตา ครั้นเมื่อเอาหนังมาคลุมร่างเขากับบุตรทั้งสองก็เหาะไปยังแดนสวรรค์ตามหาจือหนี่ เง็กเซียนฮองเฮาพบพวกเขาขึ้นมาบนสวรรค์ก็โกรธ ดึงปิ่นปักผมของนางออกมาแล้วกรีดท้องฟ้าออกกลายเป็นแม่น้ำกว้าง ทำให้คู่รักทั้งสองต้องแยกจากกันตลอดกาล (แม่น้ำนั้นบนโลกรู้จักในชื่อ ทางช้างเผือก ซึ่งกั้นขวางระหว่างดาวอัลแทร์กับดาวเวกา)  จือหนี่เฝ้าแต่ทอผ้าคอยอยู่ฟากหนึ่งของแม่น้ำอย่างเศร้าสร้อย ขณะที่หนิวหลางดูแลบุตรสองคนของพวกเขา 

ทว่ามีเพียงวันเดียวในรอบปี ที่เหล่านกกระเรียนจะมาเรียงตัวกันด้วยความเมตตาสงสาร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้คนทั้งสองสามารถข้ามมาพบกัน (สะพานนกกระเรียน) สะพานทอดข้ามดาวเดเน็บในกลุ่มดาวหงส์ ทำให้จือหนี่ หนิวหลาง และลูก ๆ มาพบกันได้ในวันที่ 7 เดือน 7 ของปี เพียงวันเดียวเท่านั้น

เล่ากันว่าถ้ามีฝนตกในคืนแห่งเลขเจ็ด นั่นคือน้ำตาของหนิวหลางและจือหนี่ที่ร่ำไห้กับความรันทดในชีวิตของตน

เทพนิยายของหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า
ในขณะที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ได้บอกเล่าเกี่ยวกับเทพนิยายของหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า อีกหนึ่งตำนาน โดยระบุว่า สาวทอผ้าเป็นลูกสาวซีหวังหมู่  มีอยู่วันหนึ่งได้เดินทางมายังโลกมนุษย์  และได้พบกับหนุ่มเลี้ยงวัว  ทั้งสองคนต่างก็มีความรักให้แก่กันและกัน  จึงได้ตกลงใจแต่งงานกัน  หลังจากนั้นจึงได้ให้กำเนิดลูกชายลูกสาวอย่างละคน  

ต่อมาซีหวังหมู่  ได้นำตัวสาวทอผ้ากลับไปยังคำหนักบนสวรรค์  หนุ่มเลี้ยงวัวไล่ตามสาวทอผ้าไปจนถึงสวรรค์  แต่ได้ถูกเส้นทางช้างเผือกกั้นเอาไว้  ทำให้ไม่สามารถข้ามไปหานางได้  นกสี่เชวิ่ยต่างก็เห็นอกเห็นใจหนุ่มเลี้ยงวัว  จึงได้รวมตัวกันกลายเป็นสะพานนกสี่เชวิ่ยในทุกวันที่ 7 เดือน 7 ของปี  เพื่อเป็นสะพานให้ทั้งสองได้มาพบกันในทุกๆ ปี   ซึ่งทำให้ชาวจีนถือว่าวันนี้เป็นวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ของจีน

แต่ก็มีบ้างที่เรียกว่า “เทศกาลแห่งการเย็บปักถักร้อย”  และ  “เทศกาลของหญิงสาว” เนื่องจากว่าในคืนวันที่ 7 เดือน 7 นี้ เหล่าสาวน้อยและหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว  จะพากันไหว้ดาวหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า  โดยในสมัยโบราณหญิงสาวที่แต่งงานแล้วจะนำด้ายมาสนเข็มทั้งหมด 7 เล่ม  ซึ่งต้องสนเข็มอย่างรวดเร็ว  อันเป็นความหมายที่แสดงถึงฝีมือในการทอผ้าพัฒนามีความประณีตและละเอียดอ่อนมากขึ้น  บ้างก็มีหญิงสาวจับแมงมุมใส่ไว้ในกล่อง  รอวันรุ่งขึ้นเปิดกล่องดู  ถ้าปรากฏว่าแมงมุมตัวนั้นชักใยแมงมุม  ยิ่งหนาทึบนั้นยิ่งดี  เพราะหมายถึงว่า  ฝีมือการเย็บปักถักร้อยของนางจะยิ่งประณีตละเอียดอ่อนมากขึ้น 
วันทานาบาตะ วันแห่งความรักที่เจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวจะได้พบกัน

นอกจากจะมีเรื่องเล่าจากฟากฝั่งทางจีนแล้ว ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีตำนานสาวทอผ้าเเละหนุ่มเลี้ยงวัวเช่นเดียวกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า เทศกาลทานาบาตะ โดยในคืนวันเทศกาลทานาบาตะ จะเห็นดวงดาวสองดวง คือ ดาวโอริฮิเมะ (Orihime) หรือดาวเจ้าหญิงทอผ้า และดาวฮิโคะโบชิ (Hikoboshi) หรือดาวชายเลี้ยงวัว ซึ่งส่องแสงโดดเด่นที่สุดในรอบปี ส่องประกายระยิบระยับอยู่โดยมีทางช้างเผือกกั้นอยู่ระหว่างกลาง ชาวญี่ปุ่นจึงถือว่าวันทานาบาตะคือวันแห่งความรักอันโรแมนติกที่เจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวจะได้พบกันเพียงปีละครั้ง

ที่มาข้อมูล-ภาพ

  • สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียว
  • วิกิพีเดีย
  • องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น