เปิดข้อมูลยุบพรรค "เลขากกต." เผยเคลียร์แล้ว 111 เรื่อง จาก 135 เรื่อง

18 ส.ค. 2566 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2566 | 13:51 น.

"แสวง บุญมี เลขาฯ กกต." เผยมีเรื่องยุบพรรค 135 เรื่องให้พิจารณา ยกคำร้องไปแล้ว 111 เรื่อง พร้อมตอบปม “กกต. มีไว้ทำไม” ยันทำงานตามกฎหมาย ระบุ กติกาไม่เป็นธรรมต้องแก้ที่กติกาไม่ใช่โทษกรรมการ เพราะ กกต. ไม่มีอำนาจแก้กฎหมาย

(18 ส.ค. 66) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ดำเนินการจัดการศึกษาอบรม หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 13 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในหัวข้อการอภิปราย "กกต. มีไว้ทำไม" โดยมีผู้ร่วมอภิปรายทั้ง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง, รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัยรองศาสตราจารย์ประจําสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหารบริษัท ฐานเศรษฐกิจมัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. กล่าวว่า พัฒนาการทางการเมือง ล่าสุดมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 75% ในปี 2566 ที่สังเกตได้ชัดมีการลงคะแนนของประชาชนที่เปลี่ยนไป โดยเลือกการเมืองตามอุดมคติ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายเสรีนิยม ควบคู่กับการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่เป็นประชานิยมประกอบการตัดสินใจ มองว่าถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ภาพบรรยากาศงานเสวนา “กกต. มีไว้ทำไม”

"ทาง กกต. เราทำงานตามกฎหมาย พิจารณาตามข้อกฎหมาย ที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนเรื่องยุบพรรค 135 เรื่องพิจารณายกคำร้องไปแล้ว 111 เรื่อง เป็นปกติมีทุกครั้งหลังเลือกตั้ง โดนทุกพรรคดังๆ เราดูตามความยุติธรรมบนกฎหมาย ทำให้พิจารณายกคำร้องไปหลายเรื่อง ยืนยัน กกต. นั้นไม่มีหน้าที่ทำเกินกฎหมาย หากเราทำผิดกฎหมายก็โดนแน่นอนตาม ม.157" นายแสวง กล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ในการทำงานของ กกต. ได้รับผลกระทบเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะต้องพัฒนา คือการบริการประชาชนที่หน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งการลดความบกพร่อง และข้อผิดพลาดต่างๆ

"เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในส่วนตัวพอใจระดับหนึ่ง แม้จะมีปัญหาบ้างอย่างที่เห็นและที่เป็นข่าว แต่เป้าหมายคือต้องทำให้การเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาการเมือง" นายแสวง กล่าว

กกต. ในฐานะที่เราเป็นกรรมการ จะต้องมาดูว่าทำอย่างไรให้น่าเชื่อถือ และให้การแข่งขันออกมาเรียบร้อย ให้ประชาชนรู้กฎกติกา ว่ากรรมการทำตามกติกาหรือไม่ ถ้ารู้ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรจะได้ไม่มีใครพาไปในทางที่ผิด 

หากกติกาไม่เป็นธรรมต้องแก้ที่กติกาไม่ใช่โทษกรรมการ เพราะ กกต. ไม่มีอำนาจแก้กฎหมาย แต่มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย โดยจะต้องทำให้การแข่งขันมีความเป็นธรรมมากที่สุด

ด้าน รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจําสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่าการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย จะต้องมีการเลือกตั้งที่ถือเป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งยังถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และต้องมีการตรวจสอบ โดยการเลือกตั้งจะต้องเสรี เป็นธรรม 

ซึ่งคำถามที่ว่า "กกต.มีไว้ทำไม" เป็นประโยคที่ได้ยินมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย 

ทั้งนี้ หลักการขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเพื่อทำให้ระบบรัฐสภามีเหตุผล และเป็นอำนาจที่จะเข้ามาตรวจสอบควบคุมทางการเมือง นอกจากอำนาจตุลาการ ขณะที่ประชาชน ที่ถือเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยสูงสุด จึงมีส่วนร่วมในการเข้าไปตรวจสอบ

เปิดข้อมูลยุบพรรค \"เลขากกต.\" เผยเคลียร์แล้ว 111 เรื่อง จาก 135 เรื่อง

ดังนั้นบนรูปแบบประชาธิปไตย การทำงานของ กกต. จะต้องตอบโจทย์ความชอบธรรมทางการเมือง โดยผ่านกระบวนการที่สะท้อนอำนาจอธิปไตยของประชาชน รวมทั้งองค์กรอิสระ จะต้องสะท้อนรูปแบบการเมืองสมัยใหม่ ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

"กว่า 9 ทศวรรษ ที่ผ่านมาดุลอำนาจทางสังคม อำนาจทางการเมืองขยับ ปรับตัวต่อเนื่อง สังคมเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน ดุลอำนาจจะเปลี่ยนไปทุกๆ 40 ปี สังคมไทยเปลี่ยนจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย ที่ทำให้เปลี่ยนความเชื่อไปด้วยจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง" รศ.ดร. ยุทธพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กกต. ต้องเป็นผู้สร้างสมดุลในระบอบประชาธิปไตย ไม่เป็นสถาบันการเมืองที่ล้าหลัง และทำให้การเลือกตั้งตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน 

โดยต้องปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และต้องลดความเป็นองค์กรภาครัฐ สู่องค์กรที่เป็นของภาคประชาชนให้มากขึ้นในอนาคต

เปิดข้อมูลยุบพรรค \"เลขากกต.\" เผยเคลียร์แล้ว 111 เรื่อง จาก 135 เรื่อง