ราเมศ ยัน 6 ส.ค. "ปชป."ประชุมใหญ่ ไม่มีเลื่อน

04 ส.ค. 2566 | 10:52 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 11:09 น.

โฆษก ปชป.ยัน 6 ส.ค.นี้ มีการประชุมใหญ่พรรค เหมือนเดิมไม่มีการเลื่อน ทุกกระบวนการของพรรค"ยึดกฎหมาย"เคร่งครัด

จากกรณีที่นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำรายชื่อสมาชิกพรรคกว่า 100 คน ยื่นต่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญและมติกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 ก.ค.และขอให้สั่งเลื่อนการประชุมใหญ่พรรค ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ออกไปก่อน และให้ กกต.สั่งให้พรรคแก้ไขข้อบังคับพรรคให้ถูกต้องนั้น


นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคปชป.กล่าวว่า ทางพรรคยังไม่เห็นตัวคำร้องฉบับเต็มที่ไปยื่นต่อ กกต. แต่ในหลักการยืนยันว่าทุกการดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองของพรรคยึดรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับพรรคอย่างเคร่งครัด โดยวันที่ 6 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ยังคงมีการประชุมใหญ่ไม่มีการเลื่อนแต่อย่างใด
 

โฆษกพรรคปชป.กล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อให้พรรคดำเนินการประชุมต่อไปได้ การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเรื่องที่สำคัญ การต่อสู้แข่งขันกันเป็นเรื่องปกติเพราะพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคที่จะมาสั่งการได้

แต่ในการแข่งขันนั้นก็เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องตระหนักว่า ความเป็นประชาธิปัตย์ มีความสำคัญกว่าการแข่งขันเพียงเพื่อให้ได้รับชัยชนะ สมาชิกพรรคที่เป็นองค์ประชุมมีหลักคิดในการเลือกผู้นำอย่างแน่นอน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

การประชุมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์ประชุมไม่ครบ ก็เป็นไปตามข้อบังคับที่มีความจำเป็นต้องยุติการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าประชุมต่อไปทั้งๆที่องค์ประชุมไม่ครบสองร้อยห้าสิบคนก็จะผิดกฎหมาย เมื่อปิดการประชุมเพื่อให้มีการประชุมใหม่ก็ถือว่าประธานในที่ประชุมได้ทำถูกต้องแล้วเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

ส่วนกรณีมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ให้งดเว้นข้อบังคับในส่วนการหยั่งเสียงเบื้องต้น ก็สามารถทำได้ ไม่มีประเด็นไหนที่ผิดกฎหมาย หลักการในเรื่องนี้คือในสมัยที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม นายอลงกรณ์ พลบุตร

ร่วมลงสมัครแข่งขันกันก็ได้มีการดำเนินการให้สมาชิกลงคะแนนเสียงเบื้องต้น เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วก็ให้มีการเลือกกันอีกรอบในที่ประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สมัยที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เนื่องจากมีเวลาที่จำกัดและต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการจัดการหยั่งเสียงเบื้องต้นคณะกรรมการบริหารพรรค

ขณะนั้นก็ให้มีการงดเว้นไม่ให้มีการหยั่งเสียงเบื้องต้นจากสมาชิก ในครั้งนี้ก็เช่นกันที่ได้มีการงดเว้น แต่ทั้งนี้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคยังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับ แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้บังคับ ให้ต้องทำ แต่พรรคได้รับฟังเสียงสมาชิกพรรคให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยผ่านกระบวนการของตัวแทนพรรคและสาขา ทุกอย่างดำเนินการอย่างเคร่งครัดไม่ได้ลิดรอนสิทธิสมาชิกพรรคแต่อย่างใด 

ส่วนกรณีการใช้สัดส่วนการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกกรรมการบริหารพรรค ในสัดส่วนร้อยละ 70 ต่อ 30 ซึ่งการลงคะแนนของ สส. อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 70 และในส่วนขององค์ประชุมอื่น ๆ อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 30 ก็เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคเป็นการดำเนินการกิจการทางการเมืองภายในของพรรค

มีกรณีที่ไม่เห็นด้วยก็มีสมาชิกที่เป็นองค์ประชุมเสนอเป็นญัตติเพื่อทำการงดเว้นและแก้ไขแต่ญัตติดังกล่าวก็ได้มีมติทั้งสองจากที่ประชุมคือที่ประชุมใหญ่ไม่อนุญาตให้มีการงดเว้น และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคก็ยังไม่รับญัตติการขอแก้ข้อบังคับพรรคดังกล่าว จึงขอย้ำว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีกรณีใดที่กระทำขัดต่อกฎหมาย

นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า ส่วนที่พรรคถูกสมาชิกพรรคร้องต่อ กกต. นั้น ก็ว่ากันตามกระบวนการและพรรคพร้อมที่จะชี้แจง เพราะไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากเกิดอะไรขึ้นกับพรรค เชื่อว่าจะไม่มีใครชนะแม้แต่คนเดียว