เปิด 3 คดีร้อนรอต้อนรับ "ทักษิณ ชินวัตร" กลับบ้าน 

26 ก.ค. 2566 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 17:52 น.

จับตา 3 คดีร้อนพร้อมเดินหน้าหาก "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับถึงประเทศไทย หลัง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ประกาศเตรียมกลับบ้าน 10 สิงหาคมนี้  

การประกาศเตรียมกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพ นายทักษิณ เนื่องในวันเกิดครบรอบ 74 ปีพร้อมระบุว่า ..พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้อุณหภูมิการเมืองที่ร้อนแรง ยิ่งทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมหมายถึงนายทักษิณพร้อมการเดินเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายจากผลของคดีต่าง ๆ ทันที   

"ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมคดีที่ยังค้าง อยู่ระหว่างการไต่สวน และที่หมดอายุความไปแล้วของ ทักษิณ ชินวัตร มาไว้ให้ที่นี่

คดีที่ศาลตัดสินแล้วนายทักษิณมีความผิด

1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติโดยมิชอบ

ศาลพิจารณาเห็นว่า ในระหว่างที่นายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้มีการออกสลากพิเศษหวยบนดินในปี 2546-2549 ซึ่งแม้จะมีการทักท้วงว่า การออกสลากดังกล่าวขัดต่อกฎหมายแต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้มีการยับยั้ง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

2.คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

3.คดีให้บุคคลอื่นถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น 1. ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี 2. ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

คดีที่ศาลตัดสินแล้วแต่หมดอายุความ 1 คดี

คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551

สำหรับคดีนี้ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษา นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

ศาลฯ ยกฟ้อง 2 คดี

คดีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPคดีดังกล่าวศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายื่นยกฟ้องตามเดิม

คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครกว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า "ซูเปอร์บอส" หรือ "บิ๊กบอส" ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือ นายทักษิณ 

ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 1 คดี

คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ แบบจีทูจีล็อต 2 นายทักษิณ ปรากฏชื่อเป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติมว่า มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ตีตกข้อกล่าวหาแก่นายทักษิณในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่า ไม่มี “เทปลับ” ที่อ้างถึงการสั่งการของนายทักษิณ ให้ดำเนินโครงการระบายข้าวจีทูจีจริง

ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการไต่สวน 1 คดี

คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น โดย ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายทักษิณ พร้อมพวกรวม 5 รายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ และนายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บมจ.การบินไทย 

ปัจจุบันมีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดี และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ยกเว้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา