thansettakij
“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัสโหวตนายกฯ ผ่าทางตันตั้งรัฐบาล

“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัสโหวตนายกฯ ผ่าทางตันตั้งรัฐบาล

08 ก.ค. 2566 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 09:26 น.

“ไชยันต์ ไชยพร” ถอดรหัสโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ผ่าทางตันตั้งรัฐบาล ชี้สุดท้ายตั้งรัฐบาลไม่ได้ เสียงไม่ถึง 376 เสียง ยังมีอีกหลายทางออก ทั้งการเลือกนายกฯ คนนอก ยุบสภา รักษาการยาว

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ว่าล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานรัฐสภา ได้มีการแจ้งกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป

โดยรอบแรก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่าการโหวตนายกฯ ครั้งนี้อาจได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง

ล่าสุดวันนี้ (8 กรกฎาคม 2566) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า “หากไม่มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใดได้เสียงถึง 376 หลังให้มีการลงคะแนนเสียงอยู่หลายครั้งแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ?”

 

ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล

ศ.ดร.ไชยันต์ ขยายความต่อว่า กรณีดังกล่าวถือว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใต้รายชื่อแคนดิเดทตาม ม 88 ของรัฐธรรมนูญ 2560 การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะนำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องหานายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า จะต้องรวมเสียง ส.ส. ได้ 250 และไปยื่นกับวุฒิสภาเพื่อขอเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติให้ ส.ส. สามารถเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่แต่ละพรรคได้เสนอไปในตอนสมัครรับเลือกตั้ง 

การที่มตินี้จะผ่านได้ก็ต้องได้เสียงจากสองสภารวมแล้ว 500 เสียง (สภาผู้แทนฯมี ส.ส. 500 วุฒิสภาขณะนี้มี ส.ว. 250)  เมื่อผ่านแล้ว ก็จะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร

คราวนี้ พรรคการเมืองที่มี ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปสามารถเสนอบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เคยมีการเสนอมาก่อน และถ้ามีเสียงสนับสนุนรวมสองสภาถึง 376 บุคคลนั้นก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งการเสนอชื่อบุคคลจะเสนอชื่อตามบัญชีรายชื่อเดิมก็ได้

แต่ถ้ามติไม่ผ่าน คือไม่ได้เสียงสนับสนุนถึง 500 ก็ไม่สามารถปลดล็อกให้มีการเสนอชื่อคนนอกบัญชีรายชื่อได้ และจะเข้าทางตันจริง ๆ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ว่า จะต้องทำอย่างไรต่อ เมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้

รัฐธรรมนูญก็มีมาตรา 5 คือ ให้ใช้ประเพณีการปกครอง ซึ่งตามประเพณีการปกครองแบบรัฐสภาโดยทั่วไป มีทางออกสองกรณี นั่นคือ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือ ยอมให้มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่ถึง 376 ได้

หรือหากไม่ต้องการใช้มาตรา 5 ก็คงต้องปล่อยให้มีนายกรัฐมนตรีรักษาการไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่วุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระ พร้อมกับเงื่อนไขการให้วุฒิสภามีอำนาจในการเห็นชอบผู้ที่ ส.ส. เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล ภาพประกอบข่าวโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตั้งรัฐบาล

 

เพื่อไทย ยืนยันหนุน "พิธา" ตั้งแต่รอบแรก

ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังมั่นใจว่าชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้รับเลือกตั้งแต่รอบแรก ตามที่มติของ 8 พรรคร่วม จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ เพราะจากการฟังพรรคก้าวไกลแล้วมั่นใจว่า ส.ว.ส่วนใหญ่สนับสนุนนายพิธา

ส่วนการเสนอชื่อนายพิธาโหวตเป็นนายกฯ จะมีกี่ครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทยเพราะแกนนำ 8 พรรคต้องมาคุยกัน เพราะเราเดินไปไหน ไปด้วยกัน และตอนนี้ไม่มีแผนสำรองหากในรอบแรกโหวตไม่ผ่านก็คงต้องกลับมาคุยกันอีกครั้ง