3 ด่านหิน "พิธา" ฝ่าพงหนาม "หุ้นไอทีวี"

20 มิ.ย. 2566 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 11:54 น.
731

อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้เส้นทาง "พิธา" สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีไม่ง่าย ต้องฝ่า 3 ด่านหิน พิสูจน์คุณสมบัติ ปมถือหุ้นสื่อ คาดอนาคตมีพยานหลักฐานเพิ่ม มองกกต.ใช้ ม.151 คืออาวุธหนัก

กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือหุ้นบริษัทไอทีวีหรือไม่ ยังคงเป็นข้อโต้แย้งทั้งประเด็นข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง รวมถึงพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ถึงเส้นทาง และจุดสิ้นสุดของกรณี "พิธาถือหุ้นสื่อ" ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โดย อ.สมชัย ได้ระบุถึงขั้นตอนในการพิจารณาคุณสมบัติของนายพิธาว่า การพิจารณามีด้วยกัน 3 ขั้นตอน เหมือนบันได 3 ขั้น
1. ไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่
2. พิธา เป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่
3. พิธา ทำขัดกับเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ หรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อ

ขั้นตอนที่ 1 
หากพิสูจน์ได้ว่า ไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อ ก็จบเรื่อง แต่การพิจารณาว่า ไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่นั้น จะมองเพียงวาทกรรม เช่นไม่มีช่องไอทีวีแล้ว เพียงเท่านี้ไม่ได้ เพราะคำว่าสื่อนั้น ไม่ได้มีความหมายเพียง การทำสถานีโทรทัศน์ หรือ คลื่นวิทยุเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงสื่อทุกอย่าง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร แม้กระทั่งหนังสือแฟชั่น ก็ยังเคยถูกชี้ว่าเป็นสื่อมาแล้ว หรืออาจจะเป็นบริษัทที่รับจ้างทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดอีเว้นท์ ก็ถือว่าเป็นสื่อทั้งสิ้น

จึงต้องดูข้อเท็จจริง โดยปราศจากอคติว่า บริษัทไอทีวีนั้น ทำอะไรในขณะนี้ หรือในวันรับสมัคร โดยกกต.จะพิจารณาในวันรับสมัครเป็นตัวชี้ ว่าในวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่นายพิธา สมัครรับเลือกตั้ง ณ วันนั้นสถานะของบริษัทไอทีวี เป็นอะไร หากเป็นสื่อก็จะถือว่าถือหุ้นสื่อ

 

ส่วนรายงานการประชุมนั้นถือเป็นหลักฐานหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพียงหลักฐานเดียว ตัวอย่างเช่นบันทึกรายงานการประชุมที่มีออกมา และถูกหักล้างด้วยคลิปบันทึกการประชุม เพราะถือว่าคลิปต้องเหนือกว่าสำหรับความเข้าใจของประชาชนทั่วไป แต่สำหรับฝ่ายที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย อาจต้องมีการพิสูจน์เพิ่มเติม โดยอาจมีการเรียกพยานบุคคลเข้าให้ปากคำเพิ่มเติม หรือ เรียกดูคลิปเต็ม 2ชั่วโมง มาดูทั้งหมด

ซึ่งหลักฐานอื่นที่จะมาชี้ว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ อาจมีออกมาอีก และ กกต.มีหน้าที่ สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เรียกพยานหลักฐานจากฝ่ายต่างๆ พยานบุคคลจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยตนเองไม่สามารถตอบได้ว่า กกต.จะใช้พยานหลักฐานใดบ้าง ในการพิจารณาว่าไอทีวี ประกอบกิจการสื่อหรือไม่

ขั้นตอนที่ 2
หากไอทีวีถือเป็นสื่อ ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาว่า ขณะที่นายพิธา ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น ถือหุ้นถืออยู่หรือไม่ และเหตุการณ์ที่อาจเป็นจุดพลิกผัน อาจอยู่ที่วันโอนหุ้นไอทีวี ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งห่างจากวันรับสมัครส.ส. นานเป็นเดือน จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ตลอดระยะเวลาที่เคยถือหุ้นไอทีวีมา 17ปีนั้น ถือในฐานะผู้จัดการมรดก ที่ยังไม่ได้ครอบครองหุ้นสื่อจริงหรือไม่

การโอนหุ้นไอทีวี มีความเหมือน หรือความแตกต่างจากการสละมรดกอย่างไร หากเป็นการโอนหุ้นอาจหมายความว่า หุ้นเพิ่งออกจากมือในวันที่เกิดการโอน ซึ่งก่อนหน้านั้นถือว่ายังคงถือหุ้นไอทีวีมาโดยตลอดหรือไม่ แต่หากเป็นการสละมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ม.1615 ระบุว่า เมื่อผู้รับมรดกได้สละมรดก หมายความว่าผู้นั้นไม่มีทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในมือ ตั้งแต่มีทรัพย์มรดกเกิดขึ้น แต่ในป.พ.พ. มาตรา1613 ได้ระบุว่าการสละมรดกนั้น จะสละแต่เพียงบางส่วนไม่ได้ ต้องสละทั้งหมด จะมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้ และต้องทำเป็นหนังสือว่าสละมรดก

 

ขั้นตอนที่ 3 
เป็นการพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ ม.98(3) หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 42(3) ที่ล้วนระบุคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ว่าห้ามถือหุ้นสื่อ โดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้มีสื่ออยู่ในมือ ใช้เป็นความได้เปรียบคู่ต่อสู้ ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง 

ซึ่งอ.สมชัย ได้แสดงมุมมองส่วนตัวว่า หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเช่นนี้ อย่างไรนายพิธาก็ไม่ผิด เนื่องจากมองว่า หุ้นสื่อที่นายพิธาถืออยู่นั้น ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ไม่ใช่สื่อหลักที่จะมีบทบาทใดๆ หากมีก็เป็นเพียงเล็กๆน้อยๆ เช่นการรับจ้างทำโฆษณาเล็กๆน้อยเพียงเท่านั้น จึงถือว่าสัดส่วนที่นายพิธาถืออยู่น้อยมากๆ ไม่มีผลที่จะไปครอบงำสื่อ เพื่อใช้ให้เกิดความได้เปรียบแก่ตนเองในการเลือกตั้งได้เลย


ฉะนั้น ในขั้นตอนทั้ง 3 ข้อนี้ หากเป็นตนเอง อาจจะมองว่า ไอทีวีเป็นสื่อ และนายพิธาถือหุ้นไอทีวี เหมือนผ่านบันไดมา 2 ขั้น แต่เมื่อถึงขั้นที่ 3 มองว่าไม่ใช่ เพราะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเรื่องห้ามถือหุ้นสื่อ เพียงแต่ว่านายพิธามีความวางใจ สบายใจเกิดไปจึงไม่ได้ โอนหุ้นออกไปตั้งแต่เริ่มต้น แต่ กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะเดินไปถึงขั้นที่3 หรือไม่ไม่สามารถทราบได้ 

สำหรับเส้นทางในการตรวจสอบนายพิธา กรณีถือหุ้นสื่อนั้นมี 2 เส้นทาง เส้นทาง 1 คือ กกต. ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นคดีอาญา และอีกเส้นทางคือ การวินิจฉัยตามมาตรา 98(3) ที่แม้ กกต.จะตีตกคำร้องไปแล้ว แต่เมื่อนายพิธาได้รับรองการเป็นส.ส. เรื่องนี้จะสามารถถูกหยิบยกขี้นมา เพื่อไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าชื่อกันของส.ส. จำนวน 1ใน 10 ซึ่งสามารถยื่นเมื่อไหร่ก็ได้ตลอดอายุของสภา และกกต.เอง ก็สามารถดำเนินการเรื่อง ม.98(3) หรือ ม.42(3) ได้อีก ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ

โดยขณะนี้ที่ กกต.กำลังดำเนินการตามมาตรา 151 นั้น สามารถดำเนินการคู่ขนานได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการชี้ว่าขาดคุณสมบัติก่อน เช่นกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ นายสิระ เจนจาคะ เนื่องจาก ม.151 เป็นการดำเนินการต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ซึ่งในขณะที่นายพิธายังไม่ได้รับรองเป็นส.ส. จึงยังถือว่ามีสถานะเป็นผู้สมัคร 

ซึ่งกกต.ตรวจพบผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ แล้วตัดสิทธิลงสมัคร มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้สมัครเหล่านี้ร้องต่อศาลฎีกา ถ้าศาลฎีกาชี้ว่าไม่ขาดคุณสมบัติ กกต.ก็ต้องคืนสิทธิรับสมัครให้ แต่หากศาลชี้ว่าขาดคุณสมบัติจริง ผู้สมัครกลุ่มนี้จะต้องถูก กกต. ฟ้องอาญา ตามม.151 ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก 

ซึ่งการพิจารณาในคดีอาญา ต้องมีความชัดเจน เชื่อมั่นว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด เนื่องจากความผิดทางอาญามีความรุนแรง มีโทษจำคุก 1-10 ปี ดังที่มีภาษิตทางกฎหมายว่า ปล่อยคนผิด 10 คน ยังดีเสียกว่าจับคนไม่ผิด 1 คน ซึ่งกระบวนการต้องเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการเพื่อสั่งฟ้องยังศาลชั้นต้น ไปศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งหากพยานหลักฐานอ่อน อาจไม่สั่งฟ้องก็เป็นได้ โดยกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลานานจนบางที นายพิธาเป็นส.ส. 2รอบก็อาจจะยังพิจารณาไม่เสร็จก็ได้ แต่ไม่ส่งผลดีในแง่ที่ว่า มีประเด็นค้างคาอยู่

โดยสรุปคือ เส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ของนายพิธายังมีอุปสรรคขวางหนามอีกเยอะพอสมควร และมีประเด็นทางกฎหมายที่น่าเป็นห่วงอีกพอสมควร ฉะนั้นทีมกฎหมายของก้าวไกลไม่ควรประมาท เพราะการใช้ ม.151 เปรียบเทียบเหมือนการลากอาวุธหนักออกมาใช้ และน่าจะไม่จบลงง่ายๆ รวมถึงขั้นตอนการโหวตนายกฯที่จะต้องใช้เสียง 376 เสียงของรัฐสภา