เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 66 นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดินได้ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาสั่งยุบ 3 พรรคการเมือง กรณีพบว่า มีกรรมการบริหารพรรค หรือ พรรคการเมือง มีพฤติการณ์สนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังขบวนการนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเปิดตัวเมื่อ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีการจัดทำประชามติแบ่งแยกดินแดน อันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ภายในงานปรากฏโดยชัดแจ้ง ว่ามีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นอย่างง่าย ระบุข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” และมีช่องให้ใส่เครื่องหมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
โดยในเอกสารที่ทำคล้ายๆ บัตรลงคะแนน หรือ บัตรลงประชามติ มีหมายเหตุตอนท้ายว่า ใช้กับชาวปาตานีผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานี หรือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา เฉพาะ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย”
พฤติการณ์ หรือ การกระทำดังกล่าว ลำพังขบวนนักศึกษาไม่อาจทำได้ หากไม่มีนักการเมือง หรือ พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 ที่บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้”
แม้ความผิดตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดโทษสำหรับบุคคลธรรมดา แต่มีบทลงโทษสำหรับพรรคการเมือง ที่จะถูกยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารได้ ตามมาตรา 92 (2) (3) หากพิสูจน์ได้ว่า มีพรรคการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
ส่วนบุคคลธรรมดาหากอยู่เบื้องหลัง อาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักร หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ เพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต
นายศรีสุวรรณ ย้ำว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และของแผ่นดิน องค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ จึงได้นำพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งคลิปวิดีโอในงานดังกล่าว และคลิปวิดีโอการปราศรัยของผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องมามอบให้ กกต. และ นายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการไต่สวนวินิจฉัยเอาผิดพรรคการเมือง ที่เป็นอีแอบอยู่เบื้องหลังขบวนนักศึกษาโดยเร็ว
รวมทั้งต้องรีบแจ้งให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องได้ยุติการกระทำดังกล่าวเสียก่อน ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 แล้วค่อยเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ลงดาบตาม มาตรา 92 (2) (3) ตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป
“ขอให้ กกต. นำพรรคการเมืองที่เป็นอีแอบที่อยู่เบื้องหลังของนักศึกษาเหล่านั้นมาลงโทษตามกระบวนการ ไม่ขอบอกว่าเป็นพรรคการเมืองใด แต่ในคำร้องจะมีอยู่ และคิดว่าทุกคนคงจะรู้ว่า ใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังตามที่แม่ทัพภาค 4 และเลขาฯ สมช.ได้พูดไว้ ซึ่งวันนี้ได้นำคลิปวิดีโอในงานดังกล่าว คลิปปราศรัยของผู้นำ แกนนำ และพรรคการเมืองที่ปราศรัยในช่วงหาสียงเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องการแบ่งแยกดินแดนมาให้ กกต.”
นายศรีสุวรรณ ย้ำว่า ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ รวมทั้งเกี่ยวกับการปกป้องสถานบันที่รักของเราด้วย ส่วนการดำเนินคดีตนได้ไปแจ้งความกับ ผู้บัญชาการสอบสวนกลางเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่างคนต่างทำหน้าที่ และไม่ได้รับลูกจากใคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ภายในงานปรากฏว่า มีตัวแทนพรรคการเมือง ทั้ง พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และ พรรคเป็นธรรม เข้าร่วม
แต่ประเมินกันว่า พรรคก้าวไกล อาจจะรอด เพราะตัวแทนพรรคก้าวไกลที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรเอก ของงานประชามติเอกราช แจ้งยกเลิกกะทันหัน แต่มีข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงได้เก็บข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ไม่ได้มีข้อมูลหลักฐานเฉพาะกิจกรรมของนักศึกษาวันที่ 7 มิ.ย.66 เท่านั้น
กิจกรรมวันสัมมนา และแถลงการณ์สนับสนุนการทำประชามติ มีการถอดเทปไว้ทั้งหมดว่าใครพูดอะไรบ้าง
การหาเสียง และปราศรัยต่างๆ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมสัมนา เสวนา เวทีต่างๆ ของตัวแทนพรรคการเมือง มีการบันทึกเทปไว้หมดว่าใครพูดอะไรบ้าง (ส่วนนี้น่าจะมีคนของพรรคก้าวไกลด้วย)
บางส่วนหมิ่นเหม่หาเสียงหลอกลวงประชาชน เพราะสิ่งที่ปราศรัยหาเสียง ไม่ได้ส่งเป็นนโยบายให้ กกต. เพราะบางนโยบายต้องแก้ไขกฎหมาย บางนโยบายต้องใช้งบประมาณ เช่น ถอนทหาร ยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. เป็นต้น โดยสิ่งที่หาเสียงบางส่วนก็หมิ่นเหม่ไปกระทบความมั่นคง คล้ายๆ ประชามติแยกดินแดน
จากกรณี “แบ่งแยกดินแดน” ที่กำลังอยู่ในกระแสร้อนขณะนี้ ทำให้นึกถึงคดียุบ “พรรคไทยรักษาชาติ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.2562 ไม่กี่วัน
ในคดีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในฐานความผิดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562
สำหรับคำวินิจฉัยของศาล มีรายละเอียดบางช่วงตอนระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นแห่งคดีที่ กกต. ได้ร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติไว้ 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง มีเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่
ประเด็นที่สอง คระกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่
ประเด็นที่สาม ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกหรือไม่ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่
ศาลเห็นว่า ประเด็นที่หนึ่ง พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้บัญญัติว่า พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมืองอันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการคณะราษฎร ในระหว่างที่มีกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ
สาระสำคัญ ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยของไทย ได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ว่า กล่าวโดยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะพึงถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะถูกติเตียน
อีกเหตุหนึ่งอันจะนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎรควรเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนในทางที่เจ้านายจะช่วยทำนุบำรุงประเทศบ้านเมืองก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำ และในทางตำแหน่งอันเกี่ยวกับวิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว
หลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือเป็นเจตนารมย์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก อันเป็นฉันทามติที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรได้ให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตีติเตียน และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับราษฎร ที่เป็นพื้นฐานของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถึงแม้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ทั้งฉบับอันนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยฐานะของสามชิกพระบรมวงศานุวงศ์ อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไปไม่
ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังมีหน้าที่แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่าย หรือได้รับการยกเว้นมิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2450 มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามคติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือ ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 71 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 และมาตรา 23
หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามนัยวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้นสอดคล้องกับหลักการที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการทางรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ
กล่าวคือ พระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย มีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรงในการใช้อำนาจทางการเมือง ดังปรากฏในระบบราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ หรือการปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองโดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหน้าฝ่ายบริหาร ดังเช่น ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศในปัจจุบัน
ดังนั้น การกระทำของ พรรคไทยรักษาชาติ ในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในนามของพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย แปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการณ์อันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ
สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อน ทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย
อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเจตนารมย์สำคัญประการหนึ่งคือ มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนฐานของความรู้รักสามัคคี ปรองดองภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย
อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจนและกว้างขวาง ความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของปวงชนชาวไทย ปรากฏชัดในข้อเท็จจริงที่ว่า ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 จำนวนมากกว่า 10,000 คน มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวนทั้งสิ้น 77 พรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 44 พรรคการเมือง
แต่อย่างไรก็ ตามการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป
ด้วยเหตุนี้ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยะประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ที่เกินขอบเขตของบุคคลและพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ
ดังนั้นแม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ของพรรคการเมืองย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า การกระทำนั้นจะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน คุณค่า และเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง
เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณว่า พระองค์จักทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นประมุขทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกชนชั้น วรรณะ เพศ และวัย ทรงเคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี
และทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางเมือง ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังมิให้สถาบันกษัตริย์ของไทยต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะอาจถูกกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น
สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัติรย์ไทยย่อมสูญเสีย เมื่อสูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์ และปกป้องสถาบันให้อยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้การเป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป
นั่นย่อมทำให้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยจะต้องเสื่อมโทรมลงหรือถึงกับสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่
สำหรับประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับจากการกระทำหรือพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญนั้น ถึงแม้จะไม่มีนิยามศัพท์เป็นการเฉพาะแต่ก็พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่า มีองค์ประกอบ 4 ประการ ตามเนื้อความที่ปรากฏในชื่อเรียกนั้นเอง กล่าวคือ
1. หมายถึงประเพณีการปกครอง ที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานจนเป็นประเพณีที่ดีงามทางการเมืองการปกครอง มิใช่ในประเพณีในกิจการด้านอื่น
2. ต้องเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทย ที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่าดีงามในประเทศไทย อันควรแก่การถนอมรักษาและสืบสานให้มั่นคงต่อไป มิใช่ประเพณีการปกครองของประเทศอื่น ลัทธิอื่น หรืออุดมการณ์อื่น
3. ประเพณีการปกครองประเทศไทยดังกล่าว หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในวาระสมัยที่ประเทศมีการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
และ 4. ประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น หมายถึง ระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรืออุดมการณ์อื่น ตัวอย่างที่ชัดแจ้งขององค์ประกอบข้อนี้ได้แก่ ประเพณีการปกครองโดยธรรมที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้พระราชอำนาจโดยธรรม และทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมเพื่อให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการจำเป็น ที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่องเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ไทยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคสอง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคเมืองนั้น
1. กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสองมาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 42 หรือมาตรา 44
4. มีเหตุอันควรยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองประเทศ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีส่วนกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
ทั้งนี้โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเหมือนมันสมองในระบบจิตใจ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตัดสินและกระทำการใดๆ แทนพรรคการเมือง ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจและการกระทำของพรรคการเมืองที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนของประเทศชาติและระบอบการปกครองของประเทศ
ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้าง หรือเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้น รวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นย่อมจะต้องถูกลงโทษทางการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) แล้วแต่กรณี
จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตนมาข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นไม่ได้ ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า ล้มล้าง และ ปฏิปักษ์ ไว้ แต่ทั้ง 2 คำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป
ศาลย่อมรู้ได้เองว่า ล้มล้าง หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่หรือมีอยู่ต่อไป ส่วนคำว่า ปฏิปักษ์ นั้น ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู หรือ เป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง หรือ สกัดกั้น มิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรือ อ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว
สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็น “ปฏิปักษ์” ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือ ต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรง ที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็น “รัฐประศาสโนบาย” ที่จำเป็นเพื่อดับไฟใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายไปจนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้ในวาระต่อไป
อนึ่งบทบัญญัติในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย กล่าวคือ ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่าจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์และการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนหรือคนทั่วๆ ไป จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์หรือไม่
เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ที่ว่า น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานมั่นคงไว้ว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำ หรือ ข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่น จนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนโดยทั่วไปเป็นเกณฑ์
คำพิพากษาฎีกาที่ 3167/2545 และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ที่ได้เห็นได้ฟัง คือไม่เกี่ยวกับเจตนาหรือความรู้สึกของผู้กระทำเอง ส่วนผลของการใส่ความผู้อื่น จะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยได้เอง ไม่จำต้องอาศัยคำเบิดความของพยาน คำพิพากษาฎีกาที่ 2371/2522
เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำไปโดยรู้สำนึกและโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์
การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนคนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในทางการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง
ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้อง จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง
มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าไร เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควร ระหว่างพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการกระทำให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล
เมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของผู้ถูกร้องดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำผู้ถูกร้องเป็นการกระทำ เพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งการกระทำดังกล่าว เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประเทศชาติ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ที่ได้น้อมรับพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีภายหลังที่รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
อันจะสอดคล้องระยะเวลาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง ที่ห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ถูกร้องที่จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้
ดังนั้น จึงให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง
ประเด็นที่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสองหรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้วในนายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อย่อ หรือ ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองซ้ำ หรือ พ้องกับชื่อย่อ หรือ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น
ในวรรคสองที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุดังกล่าวจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ทั้งนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ
บทบัญญํติกฎหมายดังกล่าว บัญญัติว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งบริหารพรรคผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. อันเป็นวันที่กระทำยุบพรรคผู้ร้องไปจดทะเบียนขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
ทั้งนี้ นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ สรุปว่า ในประเด็นที่ 1 ศาลมีมติยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยมติเอกฉันท์ ส่วนประเด็นที่ 2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี โดยมติ 6 ต่อ 3 ส่วนประเด็นข้อที่ 3 มีมติเป็นเอกฉันท์
จากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากนำมาเป็นบรรทัดฐาน กับการพิจารณากรณี “แบ่งแยกดินแดน” ที่เคลื่อนไหวกันอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และมีการตั้งเป็นคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ เป็นคดีอาญาเข้าสู่ศาลยุติธรรม บรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ถูกเพ็งเล็งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ หรือแม้แต่ พรรคเป็นธรรม ได้ร้อน ๆ หนาวๆ กันแน่
เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ซึ่งนอกจากจะมีบทลงโทษสำหรับพรรคการเมือง ที่จะถูกยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารได้ ตามมาตรา 92 (2) (3) หากพิสูจน์ได้ว่ามีพรรคการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว
ยังอาจถูกดำเนินคดีในข้อหา “กบฏ” ด้วยหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ภาค 2 ความผิดลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
มาตรา 113 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้
หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
โทษหนักหนาสาหัสเอาการทีเดียว...