ชะตากรรม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แขวนอยู่บนเส้นด้าย

10 มิ.ย. 2566 | 10:30 น.
1.3 k

ชะตากรรม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แขวนอยู่บนเส้นด้าย : คดี “พิธา”ถือหุ้นสื่อ หากนำกรณีของ “ธนาธร” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นบรรทัดฐาน กกต.จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน นับจากวันที่ได้รับคำร้อง

"ฐานเศรษฐกิจ" ยังคงเกาะติดประเด็นร้อนกรณีการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล อย่างต่อเนื่อง

เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้ชะตาว่า “รัฐบาลก้าวไกล” จะจัดตั้งขึ้นได้สำเร็จหรือไม่ และ พิธา จะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของไทยหรือไม่ แถมยังจะชี้อนาคตของประเทศชาติได้อีกด้วย 

ประเด็นการชี้ชะตา พิธา จากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายสนธิญา สวัสดี นับแต่ 10 พ.ค. 2566 

โดยตั้งประเด็นร้องเรียนว่า การถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ของนายพิธา ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 

กกต.ลุยสอบถือหุ้นสื่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต. ได้เสนอให้ที่ประชุม กกต. มีคำสั่งให้เป็นกรณีความปรากฏต่อ กกต.ว่า นายพิธา มีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และมาตรา 42(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นไอทีวีหรือไม่ 

ทั้งยังยินยอมให้พรรคการเมืองส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่า ตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ 

โดยให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต. เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนต่อตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2561 ซึ่งก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน 

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกต. ยังเห็นว่าที่สำนักงานฯ เสนอมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน เช่น คำร้องมีการร้องในประเด็นใดบ้าง หลักฐานเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร จึงให้ไปดำเนินการมาให้ครบถ้วน และเสนอที่ประชุม กกต. พิจารณาใหม่โดยเร็ว

กกต.ยังไม่ชี้มูล“พิธา”

ถัดมาวันที่ 7 มิ.ย.2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กกต.มีหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบกรณีมีคำร้อง หรือ เหตุอันควรสงสัย หรือ ความปรากฏว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 

“ยืนยันขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณารับคำร้องไว้ดำเนินการตามระเบียบหรือไม่เท่านั้น กกต.ยังไม่ได้พิจารณาว่า กรณีมีมูลต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนหรือไม่ แต่อย่างใด” ประธาน กกต. ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อพลิกดู พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 ระบุไว้ในมาตรา 151 ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ ทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

                                         ชะตากรรม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แขวนอยู่บนเส้นด้าย

โอนหุ้นผิดสำเร็จแล้ว

ส่วนกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาชี้แจงได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับทายาทแล้ว และยังมีคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ยื่นคำร้อง กล่าวว่า ประเด็นปัญหาคือ นายพิธา โอนหุ้นเมื่อไหร่ หากโอนหุ้นก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก็ไม่มีความผิด ถ้าโอนหุ้นหลังการรับสมัครเลือกตั้งก็ถือว่า ความผิดสำเร็จไปแล้ว 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่  6 มิ.ย. 2566 นายพิธา ออกมาชี้แจงว่า “ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวี ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อ ให้กับบริษัทไอทีวี ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ 

โอนหุ้นหลังสมัครไม่รอด

ขณะที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. กล่าวว่า การที่ นายพิธา จะรับหุ้นดังกล่าวมาจากมรดก หรือ มาจากการซื้อเอง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะไปสมัครรับเลือกตั้ง ต้องปลอดจากหุ้นดังกล่าวนี้ก่อน ซึ่งเรื่องการถือหุ้นนี้ จะนับจากวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 

ในวันสมัครรับเลือกตั้ง หากมีกรณีนี้เกิดขึ้น กกต.ไม่สามารถล้วงลึกไปได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนไปหาหลักฐานมาร้อง กกต.ต้องรับเรื่องขึ้นมาพิจารณาว่า ผิด หรือ ขัดมาตรา 98 (3) หรือไม่

“เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าหากท่านยังถือหุ้นอยู่ และเป็นหุ้นสื่อด้วย หาก กกต. รับลูกว่ามีหุ้นสื่อจริง ก็ต้องเรียกฝ่ายถูกกล่าวหามาให้การ และต้องไต่สวนทั้งสองฝ่าย”

ส่วนการมาโอนหุ้นตอนนี้จะมองว่าเป็นการเลี่ยงหรือไม่ นายสดศรี กล่าวว่า ถ้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้วมาโอนให้กับใครก็ตามทีหลัง เขานับหนึ่งในวันสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าในวันสมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติ ในกรณีนี้จะมาโอนหุ้นทีหลังมันก็ไม่พ้น   

“แต่หากจะมองว่า เป็นเทคนิคในการสู้คดี ทุกท่านมีสิทธิอ้างได้ ขึ้นอยู่กับ กกต. หรือ ศาลจะตีความ แต่ถ้ามาตราไหนชัดเจนอยู่แล้ว ห้ามไม่ให้มีหุ้น ถือหุ้น หรือ เป็นเจ้าของหุ้นสื่อในวันยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. การตีความกฎหมายต้องตีความอย่างเคร่งครัด คือว่ากันตรงๆ ไปเลย ส่วนผู้ถูกร้องจะสู้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง”

สำหรับกรณีที่บริษัทไอทีวี ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นางสดศรี เห็นว่า การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท กิจการค้าใด ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุในวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท ที่ส่วนใหญ่ไปพลาดตรงวัตถุประสงค์ ว่าดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชนได้  

แม้ต่อมาบริษัท และห้างหุ้นส่วนเหล่านั้น ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิก ผู้ทำนิติกรรมกับการค้าก็ไม่สามารถที่จะอ้างข้อกฎหมายใดๆ ได้ 

...จากนี้ไปต้องรอดูว่า กกต. จะมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน และมีหนังสือเรียก นายพิธา ไปชี้แจงเมื่อไหร่ จะใช้เวลาในการสรุปเรื่องมากน้อยแค่ไหน

เพราะหากนำกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นบรรทัดฐาน ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน นับจากวันที่ได้รับคำร้อง...