"เรืองไกร" ยื่น กกต.ยุบ 8 พรรคการเมืองเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล

24 พ.ค. 2566 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2566 | 13:30 น.

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ บุกร้อง กกต. ชี้ เอ็มโอยู 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลส่อเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่ พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติมกรณี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลถือหุ้นสื่อไอทีวี  

24 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต.ให้ตรวจสอบกรณีการเซ็นเอ็มโอยูของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เซ็นกันไปในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

รวมถึงส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ตรวจสอบกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ด้วย โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า การมา กกต.ในวันนี้มาส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธาซึ่งวันนี้ได้เอาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นย้อนหลัง 18 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2566 ให้ กกต.

รวมทั้งงบกำไรและขาดทุนในเว็บรายงานประจำปีของไอทีวี เพื่อให้ กกต.เห็นว่า บริษัท ไอทีวี เป็นบริษัทจำกัด มหาชน จริง ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จะเน้นไปที่กฎหมายแพ่ง ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด ปี 2535 เพื่อให้ ก.ก.ต.เห็นว่า การที่นายพิธา มีชื่อ-นามสกุล จากพระราชบัญญัติดังกล่าวถือว่า ถูกต้อง

ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เอกสารที่นำมาไม่ได้มีผู้อยู่เบื้องหลัง เอกสารที่เอามาเป็นหลักฐานตัวเอง ใช้เงินส่วนตัวจ่ายให้กับกรมธุรกิจการค้าซึ่งเป็นการได้มาอย่างถูกต้อง

อีกเรื่อง คือ กรณีการเซ็นเอ็มโอยูของพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูทั้งหมด 4 หน้า วาระ 23 ข้อ โดยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค พอตนเองเห็นลายเซ็นก็คิดว่าการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า

"ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกของพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม"

สำหรับเรื่องนี้ นายเรืองไกร กล่าวว่า เป็นเพียงการตั้งคำถามส่วนตัว หาก กกต.ตรวจสอบแล้ว ไม่พบมูลความผิดตามที่ตัวเองสงสัยตนเองก็เคารพในสิ่งที่ กกต.พิจารณา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า เข้าข่ายการกระทำความผิด และเห็นสมควรให้มีการยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคนี้ เนื่องจากใครเป็นผู้เซ็นเอกสารดังกล่าวก็ถือว่า มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยทั้งสิ้น

อีกทั้งเอกสารเอ็มโอยูฉบับนี้ ถูกเซ็นด้วยหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค จึงถือได้ว่า เป็นความผิดร่วมกัน