วัชระ เผยคดีแก๊งตู้ห่าว มท.ยันอนุมัติสัญชาติให้ต่างด้าว รัดกุมโปร่งใส

30 มี.ค. 2566 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 10:17 น.

วัชระ เผยความคืบหน้า หลังถามมหาดไทย คดีแก๊งตู้ห่าว ได้คำตอบแล้ว ปลัดมท.ยันการอนุมัติสัญชาติให้ต่างด้าวรัดกุมโปร่งใสตรวจสอบได้

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  เปิดเผยว่า นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมาที่ตน หลังจากได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 และยื่นถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565

สอบถามและขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุมัติสัญชาติไทยให้บุคคลต่างด้าว ซึ่งเป็นผลจากคดีนายหาวเจ๋อ ตู้ กับพวกคนจีน (จีนสีเทา) มาก่อคดีอาญาร้ายแรงทั้งเรื่องยาเสพติด และบ่อนการพนันผิดกฎหมาย โดยเป็นผู้ที่แปลง สัญชาติ โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการอนุมัติสัญชาติไทยให้บุคคลต่างด้าวนั้น 

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า 
-การอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่บุคคลต่างด้าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554ถึงปัจจุบันจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,960 ราย ในจำนวนนี้มีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมากที่สุดจำนวน 1,221  ราย และไต้หวันจำนวน 1,155  ราย 

- กระทรวงมหาดไทยมีการติดตามพฤติกรรมผู้ได้สัญชาติไทยหรือไม่ เมื่อบุคคลได้รับอนุมัติให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามตรวจสอบ พฤติกรรมและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดที่ชัดแจ้ง กระทรวงมหาดไทยจะได้ถอนสัญชาติไทยแก่ผู้ได้สัญชาติไทยต่อไป 

-ต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมากในการโอนมาเป็นสัญชาติไทยจริงหรือไม่นั้น ขั้นตอนของการแปลงสัญชาติมีขั้นตอนการตรวจสอบหลายขั้นตอน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติไทยดำเนินการในรูปของคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการ

ซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และการใช้ดุลพินิจเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การอนุมัติให้แปลงสัญชาติเป็นไทยของคนต่างด้าว ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน  จึงยากต่อการแสวงหาผลประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว 

-กระทรวงมหาดไทย มีมาตรการป้องกันไม่ให้อาชญากรจากต่างประเทศโอนเป็นสัญชาติไทย โดยมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด พฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และผ่านการสัมภาษณ์เพื่อสอบถาม เจตนารมณ์ และสังเกตพฤติการณ์ของคู่สมรส 

- กรณีสวมบัตรประชาชนคนไทยที่เสียชีวิตไปแล้ว จะตรวจสอบทั้งประเทศอย่างไร เมื่อใด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบและปรับปรุงรายการของบุคคล ในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร เพื่อป้องกันการสวมรายการบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

โดยแจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ถือปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการ กรณีมีการทุจริตทางทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยหากตรวจพบหลักฐานหรือได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตทางทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ให้เพิกถอนหลักฐานเอกสารที่มีการดำเนินการโดยมิชอบ รวมทั้งคืนสถานะทางทะเบียนให้แก่เจ้าของรายการที่แท้จริง และให้ดำเนินคดีอาญาโดยร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน

กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ และพิจารณาโทษสถานหนักตามควรแก่กรณี หากพบว่าผู้บังคับบัญชามีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต หรือดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้าจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ราชการหรือประชาชน ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดอาญา

กรณีผลตรวจสอบเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็น หรือมีการกระทำผิดเป็นขบวนการและมีจำนวนมากผิดปกติ ให้กรมการปกครองรวบรวมหลักฐานส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

- ปัจจุบันมีคนสัญชาติจีนรออนุมัติเป็นบุคคลสัญชาติไทยอีกจำนวนเท่าใด และจะอนุมัติหรือไม่ อย่างไร ขณะนี้มีคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และคำขอถือสัญชาติไทยตามสามีให้แก่คนสัญชาติจีนอยู่ระหว่างรอนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง

การขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การขอถือสัญชาติไทยตามสามี และการขอกลับคืนสัญชาติไทย และคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ เพื่อพิจารณาเสนอแนะ และให้ความเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีจำนวนทั้งสิ้น  439ราย แยกเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน 142 รายและไต้หวันจำนวน 297 ราย