รัฐบาลประยุทธ์ ครบวาระ 4 ปี เมื่อไหร่ หาคำตอบอย่างเป็นทางการได้ที่นี่

20 ก.พ. 2566 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2566 | 16:48 น.
6.0 k

ไขข้อข้องใจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสภาผู้แทนราษฎร หมดวาระเมื่อไหร่ สมาชิกภาพของรัฐมนตรี ส.ส. หลังครบวาระเป็นอย่างไร พร้อมกรอบอำนาจ หน้าที่ ของรัฐบาลรักษาการ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายสำหรับอายุรัฐบาล และอายุสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ปรากฏชัดในห้วงเวลานี้ คือการลงพื้นที่หาคะแนนเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคใหม่ พรรคเก่า

ฐานเศรษฐกิจ กางปฏิทินดูชัดๆว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดวาระวันไหน และบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะสิ้นสุดวาระลงเมื่อใด

วาระสภาผู้แทนราษฎรไทย

การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ทำให้ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) 500 คน จาก 25 พรรคการเมือง ซึ่งนับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มีวาระ 4ปี นับแต่วันเลือกตั้ง โดยสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

 

วาระรัฐบาล

รัฐบาลไทย มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4ปี เช่นเดียวกับวาระสภาผู้แทนราษฎร โดยจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดยรัฐบาลปัจจุบัน มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 และได้รับเสียงสนับสนุนจาก พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค และสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด

อายุรัฐบาล

เมื่อสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4ปี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วันหลังจากวันที่สภาครบวาระ จึงต้องไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 และต้องประกาศวันเลือกตั้งที่กำหนดให้ทราบภายใน วันที่ 24 – 28 มีนาคม 2566 (5 วัน หลังจากสภาครบวาระ)

สมาชิกภาพของ ส.ส. หลังครบวาระ

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4ปี สมาชิกภาพของส.ส. ทุกคน ถือเป็นอันสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 101(1)

รัฐบาลหลังครบวาระ

เมื่อรัฐบาลครบวาระ 4 ปี คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 167(2) แต่ยังคงต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป(รักษาการ) จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

กรอบอำนาจ หน้าที่ ของรัฐบาลรักษาการ

ระหว่างที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลรักษาการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  1. ไม่สามารถอนุมัติงาน หรือโครงการ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กําหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจําปี
  2. ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
  3. ไม่สามารถอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
  4. ไม่สามารถใช้ทรัพยากร หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และห้ามฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กําหนด