“กกต."เปิดไทม์ไลน์แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เริ่มเคาะ 20 ก.พ.

01 ก.พ. 2566 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 15:34 น.

“กกต."เปิดไทม์ไลน์แบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. เริ่มเคาะ 20 ก.พ. ยกความเห็นกฤษฎีกายันคำนวนราษฎรต่อส.ส. 1 คน ต้องรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย พร้อมขอบคุณนายกฯ ไม่ก้าวล่วงทำงาน ประกาศพร้อมเลือกตั้งไม่ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

วันนี้ (1 ก.พ.66) นายปกรณ์ มหรรณพ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ และ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงชี้แจงกรณีมีการระบุว่า กกต.ขอเวลารัฐบาลในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งรวม 45 วัน ว่า ได้มีการประสาน และชี้แจงทำความเข้าใจว่า เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว มีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในเรื่องต่างๆ

เช่น การที่กกต.จังหวัดจะต้องแบ่งเขตภายในเวลา 3 วัน การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และพรรคการเมืองอีก 10 วัน เมื่อครบระยะเวลากกต.จังหวัดจะต้องพิจารณาและทำความเห็นว่ารูปแบบใดเหมาะสม อีก 3 วัน รวมเป็นเวลา 16 วัน 

จากนั้นจะส่งให้ กกต.พิจารณา ซึ่ง กกต.กลาง จะรีบพิจารณาโดยตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในไม่เกิน 5 วัน 400 เขต เราจะใช้ระยะเวลาพิจารณาวันละ 100 เขต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบาย 

“เรามีการเตรียม และตั้งเป้าหมายการทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงพรรคการเมือง ที่ต้องมีเวลาในการดำเนินการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเผื่อเวลาให้กับพรรคการเมือง” 

 

โดยในวันพุธที่ 8 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับพรรคการเมือง หารือเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจำนวนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ และวิธีการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง

“เราไม่ได้นิ่งนอนใจทำงานทุกวัน และกล้าที่จะพูดว่าเราพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งให้ชอบด้วยกฎหมาย” 

นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของ กกต. ที่จะพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ. กกต.จังหวัด จะเร่งดำเนินการแบ่งเขตให้แล้วเสร็จใน 3 รูปแบบ จากนั้นวันที่ 4-13 ก.พ. จะปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน 

วันที่ 14-16 ก.พ. กกต.จังหวัดจะสรุปและทำความเห็น เลือกรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอกกต.กลาง โดยในวันที่ 20-28 ก.พ. กกต.กลางจะพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าใน 1 วันจะพิจารณาไม่ต่ำกว่า 100 เขต

นายปกรณ์ ยังย้ำว่า จากการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ใน 30 จังหวัด ไม่มีจังหวัดไหนไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ เช่นนครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ ซึ่งจะเห็นว่าจังหวัดใหญ่ๆ พร้อมแล้ว และตนก็ได้กำชับว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด 

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตที่เคยถูกข้อครหา เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 นายปกรณ์ ยืนยันว่า การแบ่งเขตในการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และการที่ระบุว่า แบ่งเขตแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว ในเรื่องนี้ตนก็ได้ลงพื้นที่ไปดูใน จ.สุโขทัย พบว่าพื้นที่เป็นพื้นที่ภูเขา แต่มีความกว้างที่ห่างกันซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  

สำหรับวันพุธที่ 8 ก.พ. กกต.จะเชิญพรรคการเมืองร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงการทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองจะได้ทราบ ว่าสาขาและตัวแทนพรรคจะต้องดำเนินการอย่างไร 

                             “กกต.\"เปิดไทม์ไลน์แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เริ่มเคาะ 20 ก.พ.

นายปกรณ์ ยังยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยุบสภา ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือ สภาอยู่ครบวาระที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดเราก็สามารถดำเนินการได้ 

นายปกรณ์ ยังขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ออกมาระบุว่าจะไม่ก้าวล่วงกกต. ทำให้การประสานงานออกมาในรูปแบบที่ดี ท่านเข้าใจในระยะเวลาเหล่านี้ การที่เรามีน้ำใจคิดหวังดีกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาจจะส่งผลร้ายกลับมาที่ กกต. หากมีความไม่เข้าใจข้อกฎหมายและระเบียบกำหนดว่าอย่างไร ข้อวิจารณ์ต่างๆ เรารับฟังตลอด ถ้าถูกต้องเราพร้อมรับมาปฏิบัติ  

ส่วนกรณีการประกาศจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมี ซึ่งคิดจากข้อมูลการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ช่วง 3 วันนี้เป็นข่าวดัง อยากทำความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่มีการประกาศปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรของ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จนถึงปี 2557 จะประกาศจำนวนราษฎรรวม 

ต่อมาปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ โดยแยกชาย หญิงของคนที่มีสัญชาติไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งปี 57 เคยเกิดปัญหา ที่ อ.แม่สอด จะยกฐานะเป็นเทศบาล มีการโต้แย้งว่าควรจะรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ 

คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นสอดคล้องกับ กกต. ว่า การคิดจำนวนราษฎรนั้น ต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ต้องแยกคนที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย เพราะต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการ และการเสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียม คือผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยอาจจะได้รับแตกต่างจากผู้ที่มีสัญชาติไทย 

แต่การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมทั้งหมดไม่ว่าผู้นั้น จะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หรือมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ เพราะคนที่มีสัญชาติไทย ก็ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สอดคล้องต้องกัน และทำมาโดยตลอด ข้อมูลที่นำเสนอคิดว่าทั้ง 2 ปัญหานี้ มีความกระจ่างพอสมควร