"อรรถวิชช์" ยัน"แบล็กลิสต์"มีจริง คนตัวเล็กกู้ยาก แนะใช้ระบบสกอริ่งแทน

11 ม.ค. 2566 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 22:02 น.

"อรรถวิชช์" ยัน "แบล็กลิสต์"มีจริง แจง คนตัวเล็กกู้ยาก ดอกเบี้ยสูง ระบบประมวลข้อมูลเครดิตมีปัญหา ต้องรื้อกฎหมายใหม่ ใช้ระบบระบบ Credit Scoring แทน ถามกลับ นักรบใด ไม่เคยมีบาดแผลบ้าง

จากกรณีที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายสำคัญ "ยกเลิกแบล็กลิสต์" ปล่อยกู้ด้วยเครดิตสกอร์ริ่งมาแทนในระบบสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้ และรื้อระบบสินเชื่อทั่วประเทศนั้น

 

 ล่าสุด นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ละเอียดยิบ  หลังจากเกิดคำถามมากว่า  แบล็กลิสต์ไม่มีจริง รายงานเครดิตบูโร มีเพียงประวัติชำระหนี้ของบุคคล ไม่ได้ขึ้นบัญชีบุคคลห้ามกู้สินเชื่อ 

 

นายอรรถวิชช์  ชี้แจงว่า แบล็กลิสต์มีจริง เพราะระบบการบันทึกข้อมูลเครดิต จะคล้ายกับบันทึกประวัติอาชญากรรม โดยบริษัทข้อมูลเครดิตจะบันทึกและรายงานต่อสถาบันการเงิน ถึง “ประวัติพฤติกรรม ทั้ง 3 ปี”  ไม่ใช่แค่สถานะเครดิตปัจจุบันเท่านั้น จะเห็นว่า “ความเป็นจริง” แม้คนที่จ่ายหนี้คงค้างไปแล้ว ก็ยังมีประวัติด่างพร้อยที่ยากต่อการกู้เงินได้ โดยกว่าจะกลับมากู้ได้ปกติ หรือกู้ดอกเบี้ยต่ำได้อีก ต้องใช้เวลายาวนาน คนตัวเล็กเสียเปรียบ ฟื้นตัวยาก

 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

 

 รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า  ชี้แจงอีกว่า แม้บริษัทข้อมูลเครดิต หรือธนาคารไม่ได้ทำรายการ “บุคคลห้ามกู้” แต่การรายงานประวัติพฤติกรรมสินเชื่อทั้งชุดดังกล่าว ก็ทำให้ธนาคารมีสบช่องปฏิเสธสินเชื่อนั่นเอง

 

“นักรบใด ไม่เคยมีบาดแผลบ้าง?” ถ้าเอาประวัติ “เคยผิดนัด” มารายงาน มันก็คือ “แบล็กลิสต์” นั่นเอง

 

โดยนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ ของพรรคชาติพัฒนากล้า ไม่ได้ลบประวัติการชำระหนี้ แต่จะไม่รายงานประวัติพฤติกรรมทั้ง 3 ปี ของผู้กู้ แต่จะแจ้งเฉพาะ “คะแนน” ที่สะท้อนสภาพปัจจุบันของผู้กู้ ด้วยเครื่องมือประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring) ที่ใช้กันในหลายประเทศ
 

\"อรรถวิชช์\" ยัน\"แบล็กลิสต์\"มีจริง คนตัวเล็กกู้ยาก แนะใช้ระบบสกอริ่งแทน

 

นายอรรถวิชช์ ยืนยันว่า  นโยบายยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เปลี่ยนเป็นระบบ Credit Scoring ไม่มีผลเสีย แต่จะมีผลดีคือธนาคารปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น โดยมีระบบการประเมินที่เป็นสากล การใช้ระบบ Credit scoring เป็นการแจ้ง “คะแนน” ที่จะนำเอา “ข้อมูลดี” มาประกอบด้วย อาทิ รายได้ การจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอพพลิเคชั่นต่างๆ 

 

นายอรรถวิชช์  ยืนยันว่า นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ สามารถเกิดขึ้นได้ และเป็นจริงได้ โดยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยเฉพาะ โดยแก้ไขให้ใช้ระบบ Credit Scoring เป็นรูปแบบการจำแนกคุณภาพสินเชื่อของบุคคลตามจริง แทนที่ระบบแบล็กลิสต์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และรักษาระบบสินเชื่อให้เป็นไปตามความจริง”
 

ตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจนคือกรณี "บังฮาซัน" สู้ชีวิต อินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญ ขายอาหารทะเลให้ชุมชน เก็บเงินสด 30 ล้านสร้างบ้านเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เนื่องจาก “เคย” ติดหนี้บัตรอิออน สมัยที่ยังทำงานสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ แต่จะมีสักกี่คนที่มีความสามารถหาเงินได้แบบนี้ โดยไม่ต้องใช้ทุนตั้งตัว