"ดร.เอ้"ชี้ 3 ปมหลัก ต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาไทย

20 ธ.ค. 2565 | 15:23 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2565 | 22:34 น.

"เอ้-สุชัชวีร์"ชี้ 3 ปัญหา " เด็กยากจนเพิ่มขึ้น- ปัญหาครอบครัวซ้ำเติม -ยิ่งเรียนยิ่งหาย" ฉุดการศึกษาไทยเหลื่อมล้ำ


นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และหัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปร่วมงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อรายงานวงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ.ศ.2565

 

โดยได้กล่าวว่า ผมขอขอบคุณ กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เชิญแสดงความคิดเห็นต่อรายงานวงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ.ศ.2565 ขอสรุปให้ทุกท่านได้รับรู้สถานการณ์ไปด้วยกันครับ
 

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และหน.ทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์

1. "เด็กยากจนเพิ่มขึ้น" เด็กยากจนพิเศษ (จนมาก) เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้าน เป็น 1.3 ล้าน คาดว่ามากจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ผลจากโควิด19 และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวลดลงเหลือเพียง 1,044 บาทต่อเดือน หรือ 34 บาทต่อวัน ไม่พอดูแลคนในครอบครัว

 

2. "ปัญหาครอบครัวซ้ำเติม" ครอบครัวเด็กยากจน ส่วนใหญ่สมาชิกครอบครัวได้รับการศึกษาในระดับประถมเท่านั้น ความยากจนจึงถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะไม่ได้โอกาสเรียนหนังสือ เกิดเป็นความยากจนซ้ำซาก ไม่หลุดบ่วง

 

อีกทั้งยังมีอาชีพรับจ้าง รายได้ไม่แน่นอน ต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐเป็นหลัก หลายครอบครัวพ่อแม่หย่าร้างและมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลในบ้าน 

 

3. "ยิ่งเรียน ยิ่งหาย" จากสถิติ เด็กยากจนในช่วงประถม 150,000 คน มาถึงมัธยมปลายเพียง 40,000 คน เข้ามหาวิทยาลัยได้ 20,000 คน หายไปตลอดเส้นทางการเรียน อย่าน้อย ยังมีข่าวดีที่อัตราส่วนเด็กยากจนพิเศษ สอบเข้าเรียนในระบบ TCAS ได้มากขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับแนวทางที่ ทปอ. ได้ตั้งใจไว้ ปัญหาการศึกษาไทยยังมีอีกมากมาย

 

เราจึงต้องแก้ปัญหาแบบ "มุ่งเป้า" ต้องไม่ฉาบฉวย เกลี่ยเฉลี่ย แบบเลื่อนลอย สุดท้ายนอกจากแก้ปัญหาไม่ได้ ยังเสียพลัง เสียงบประมาณแบบไม่คุ้มค่า