“ไทยสร้างไทย”ประกาศปฏิวัติการคอร์รัปชัน คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในประเทศ

09 ธ.ค. 2565 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 02:05 น.

“ไทยสร้างไทย”ประกาศปฏิวัติการคอร์รัปชัน คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในประเทศ หลังรัฐประหาร ดัชนีชี้วัดการโกง ไทยตกต่ำถึงขีดสุด “สุดารัตน์-สุพันธุ์”แท็กทีมชูยุทธศาสตร์ 8 ด้าน ดึงไทยขึ้นจากก้นเหว ลั่นต้องทำให้คะแนน CPI ขึ้นมาที่ 50 คะแนน 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงนโยบายการปราบคอร์รัปชัน เดินหน้าปฏิวัติคอร์รัปชัน สร้างไทยที่โปร่งใส ไม่ปล่อยให้คนโกงลอยนวล  


คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์คอร์รัปชัน ของประเทศไทยซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงและตกต่ำอย่างที่สุด ดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันปี 2564 ซึ่งเป็นดัชนีภาพลักษณ์ความโป่รงใส หรือ CPI ไทยได้เพียง 35 คะแนนและได้ลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ เป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่เราเข้าร่วม CPI ปี 2538 เราสอบตกมาโดยตลอด 

 

 

ยิ่งหลังการรัฐประหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อ้างเหตุเรื่องการคอร์รัปชันในการรัฐประหาร การคอร์รัปชันกลับยิ่งเลวร้ายลงในปี 2557 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทย อยู่ที่ 38 คะแนน ได้ลำดับที่ 85 ของโลก แต่จากการปกครองประเทศของผู้ที่อาสาจะเข้ามาปราบโกงคะแนน CPI ตกลงมาโดยตลอด 

                                 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทยจึงมีเป้าหมายในการกำจัดคอร์รัปชันโดยขอประกาศการปฏิวัติคอร์รัปชัน ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส ของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 50 คะแนนให้ได้ 


ด้านนายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากความเลวร้ายที่เกิดขึ้นพรรคไทยสร้างไทยจึงมียุทธศาสตร์ในการปฏิวัติการคอร์รัปชันของประเทศไทย ผ่านยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ด้านประกอบไปด้วย


1.ผู้นำตั้งใจจริง ผู้นำประเทศจะต้องมีความตั้งใจจริง ที่จะปราบคอร์รัปชันให้สิ้นซาก การปราบคอร์รัปชันจึงจะประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศจะต้องเป็นต้นแบบในการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อแสดงความจริงใจ ความโปร่งใส และสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้อื่นต่อไป โดยเรื่องดังกล่าวต้องถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการรัฐประการ แต่การทุจริตกลับเพิ่มขึ้น


2.ทุกคนต้องถูกตรวจสอบหมด การปราบคอร์รปชั่นต้องจริงจังในทุกภาคส่วน องค์กรตรวจสอบก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แล้วเปิดเผยต่อสาธารณชนทุกปี รวมไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เพื่อความโปร่งใสและลดโอกาสในการกระทำการทุจริต 

 

3.มีเส้นตายการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดี การสืบสวนสอบสวนการทุจริต ต้องมีการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน เมื่อถึงกำหนดเวลาหากการสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จะต้องมีการทำรายงานชี้แจงต่อหน่วยงานตรวจสอบถึงเหตุผลของการล่าช้า


4.ลงโทษหนักทั้งผู้ให้ผู้รับ โดยสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้คนไทยโกงไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ใช่เพียงภาครัฐแต่ภาคเอกชนก็ต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง  นโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจึงมีความพยายามในการดึงภาคเอกชนเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด


5.ให้อำนาจประชาชนแจ้งเบาะแสและฟ้องได้โดยตรง การแจ้งเบาะแสเรื่องทุจริต จะต้องสะดวกง่ายดายและเป็นความลับ มีระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส สามารถร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ซึ่งจะต้องจัดไว้ตามองค์กรภาคธุรกิจ ชุมชนและสถาบันการศึกษา


เมื่อได้รับการร้องเรียน องค์กรที่รับผิดชอบจะต้องมีการตอบสนองต่อการร้องเรียนอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง และต้องแจ้งกลับผู้ร้องเรียนว่าจะดำเนินการอย่างไรภายใน 14 วัน 


6.สื่อมวลชนมีเสรีภาพ เสรีภาพของสื่อมวลชนต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างเต็มที่ รวมถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล องค์กรอิสระและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบการทำงานขององค์กรและหน่วยงานปราบคอร์รัปชัน 

                                  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

7. นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเหมือนกับในประเทศเกาหลี เพื่อป้องกันการโกงโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีบล็อกเชน เช่นนโยบายบำนาญประชาชนสามพันบาท จะต้องนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อป้องกันการโกง ไม่ใช่ปล่อยให้มีผีมารับเงินบำนาญประชาชน และยังเป็นการลดต้นทุน ลดงบประมาณและป้องกันการทุจริตได้


8.ให้อำนาจประชาชนผ่านสภาชุมชนกำหนดงบประมาณและตรวจสอบการใช้งบประมาณ เช่น การกำหนดงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น ให้ใช้วิธีการ Participatory Budgeting ซึ่งกำหนดให้ท้องถิ่น หรือ ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณของโครงการในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้น


 และกำหนดให้ท้องถิ่นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ การตรวจรับงานและการเบิกจ่ายงบประมาณจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ โดยผ่านกลไกสภาชุมชนมาร่วมตรวจรับงาน มีสิทธิในการคัดค้าน