ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดฟังความเห็นประชาชนทำนโยบายพรรค

22 พ.ย. 2565 | 18:58 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 02:08 น.

ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดพื้นที่ฟังความเห็นประชาชน เพื่อไปสู่การจัดทำนโยบายพรรค “เฉลิมชัย”ขอคนรุ่นใหม่เปิดใจให้กว้าง ปชป.คบได้โดยสนิทใจ  “จุรินทร์”ย้ำ 3 อุดมการณ์ ลั่นปชป.ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ

วันที่ 22 พ.ย.65 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดงานนวัตกรรมเปลี่ยนกรุงเทพ "ฟัง คิด ทำ" เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร(กทม.) และทั่วประเทศ เพื่อนำมาสังเคราะห์ต่อยอดจัดทำเป็นนโยบายของพรรคให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง


โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคภาค กทม. นายสุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรม กทม. รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วม

 
นายองอาจ กล่าวว่า กิจกรรม “ฟัง-คิด-ทำ”นี้ เป็นกิจกรรมที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมาต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยการฟังประชาชน คิดร่วมกับประชาชน และทำเพื่อประขาชน ซึ่งจะเห็นว่านโยบายที่พรรคนำเสนอล้วนเกิดจากกระบวนการ ฟัง-คิด -ทำ มาต่อเนื่อง และนโยบายที่ออกมาเป็นผลผลิตของประชาชน เพราะพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

                        ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดฟังความเห็นประชาชนทำนโยบายพรรค
ในการการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าชาว กทม. ไม่ได้ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ในการทำงาน  เราถูกสั่งสอนและอบรม ถามว่ารู้สึกอย่างไร ในฐานะคนทำงานเพื่อประขาชนย่อมรู้สึกเสียใจ ที่ไม่มีโอกาสในการทำงานให้กับประชาชน หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการรับฟัง คิด และทำเพื่อประชาชนมาต่อเนื่อง 


โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทั้งใน กทม. และทั่วประเทศ พรรคได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชน จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเราได้ทำจากเสียงของประชาชน ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และเชื่อว่าจะเป็นนโยบายที่ทุกคนมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับของทุกคน


“ที่ผ่านมาแม้ว่าชาว กทม.จะไม่ให้โอกาสเราได้ทำงาน แต่เชื่อมั่นว่าจากการที่เราทำงานหนัก ทุ่มเท มุ่งมั่นตั้งใจในการรับใช้ประชาชน พยายามฟังประชาชน คิดจากประชาชน เชื่อมั่นว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนชาว กทม. จะให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าจะสามารถปักธงชัยอยู่ในใจประชาชน และเป็น ส.ส.ของ กทม. ได้อย่างแน่นอน” นายองอาจ กล่าว

                         ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดฟังความเห็นประชาชนทำนโยบายพรรค
ด้านนายสุชัชวีร์ กล่าว ตนยึดมั่นใจอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และมั่นใจเสมอว่าจากนี้ไป จะเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาขน 


และแน่นอนจากนี้ไปจะเป็นงานที่ยากและท้าท้าย เนื่องจากโลกเปลี่ยน การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความคิดของประชาชนเปลี่ยน กระบวนการฟัง คิด ทำ พรรคทำมาโดยตลอด จากนี้เราจะไปรับฟังทุกคนในทุกพื้นที่ แต่กระบวนการที่สำคัญจะกลั่นกรองเป็นนโยบาย 


“ความคิดและมันสมองต่อจากนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จากนี้จะเป็นความคิดของประชาชนทุกคน จึงขอเชิญชวนทุกคนมาช่วยกันคิด เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่นว่าพรรคจะมุ่งหน้าฟัง คิดและทำเพื่อประชาชนชาว กทม. และคนไทยทั่วประเทศทุกคน” 

                       ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดฟังความเห็นประชาชนทำนโยบายพรรค
น.ส.วทันยา ชี้แจงถึงเหตุผลของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ว่า เป็นเพราะความเป็นสถาบันทางการเมือง การเป็นพรรคของประชาชนที่ไม่มีใครเจ้าของ และยังมีระบบโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรค 


ส่วนเหตุผลของการรีบตัดสินใจลาออกแล้วมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องการใช้เวลาลงไปรับฟัง พุดคุยกับประชาชนอย่างจริงจังว่า เขาต้องการอะไร ก่อนที่จะนำมาผลักดันเป็นนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นแต่นักการเมืองบอกว่าอยากทำอะไร แต่แทบไม่มีใครถามว่า ประชาชนอยากได้อะไร ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น สะท้อนปัญหา หรือบอกความต้องการ

 

น.ส.วทันยา กล่าวว่า วันนี้ไทยแลนด์ แลนด์ ออฟ สไมล์ ยิ้มไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจแย่ นโยบายคลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ก็ยังทำต่อไปเหมือนไม่ได้ยินเสียงคนระดับฐานรากที่กำลังล้มตาย เพราะพิษเศรษฐกิจ 


จากข้อมูล Social Listen พบว่า ประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาปากท้องและต้องการให้มีการแก้ไขเป็นอับดับแรก และยังมีปัญหาน้ำท่วม การจราจร การพนัน และยาเสพติด ที่อยู่คู่คนกรุงเทพฯ มาช้านาน จนต้องหาทางปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง เพราะปัญหามันไม่เคยถูกรับฟังจากคนในพื้นที่และมีการแก้ไขอย่างตรงจุด 


ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวคุณหมอที่ยังหนุ่มใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ แต่กำลังจะเสียชีวิตจากมะเร็งปอด เพราะมลพิษที่เราทุกคนกำลังสูดกันอยู่ หลายประเทศเขาประกาศเลยว่า อากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่วันนี้นอกจากเราจะไม่มีสิทธินี้แล้ว เรายังได้โรคร้าย จากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษมาแทนอีกด้วย 


น.ส.วทันยา กล่าวถึงกรณีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เพราะต้องการให้เสียงของพวกเขาดังมากพอที่จะมีใครได้ยิน แต่กลับถูกรัฐใช้อำนาจปราบปรามปิดกั้น โดยเฉพาะช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เพื่อซุกซ่อนเสียงที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้ไว้ภายใต้รัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจ 


การชุมนุมเรียกร้องในรัฐที่เจริญ หรือ รัฐที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะส่งเสริมให้เกิดการส่งเสียงอย่างมีคุณภาพ และยอมอดทนรับฟังเสียงจากเจ้าของปัญหา เพื่อนำมาเป็นนโยบายแก้ไขอย่างตรงจุด เนื่องจากการฟังจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ลดความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย เพราะทุกความเห็นต่างจะนำมาสู่ทางการเปลี่ยนแปลงและทางออกใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ความเห็นต่างที่ไม่มีผู้ฟังและทำให้ประเทศเสียโอกาส

                            ปชป.ชู “ฟัง-คิด-ทำ” เปิดฟังความเห็นประชาชนทำนโยบายพรรค

ส่วน นายเฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้ตนไม่อยากให้ทุกคนมองว่าพรรคเป็นสถาบันการเมืองที่อยู่มา 76 ปี แต่ความเป็นจริงอีกอย่าง คือ อยากให้ทุกคนได้มองพรรคประชาธิปัตย์ว่า เป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชนได้ ไม่ใช่เอาเพียงแค่อยู่มา 76 ปี มาเป็นเครื่องมือหากิน 


“ผมเป็นเลขาธิการพรรคสมัยนี้เป็นสมัยที่ 2 โดยสมัยแรกที่เป็นเลขาฯ ในปี 2554 ในวันที่ นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และวาระที่ 2 มาเป็นในวันที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ทั้งวาระที่ 2 นี้แตกต่างกันสิ้นเชิง”


วาระแรกเราแพ้การเลือกตั้ง และเป็นฝ่ายค้าน แต่วาระที่ 2 เราแพ้การเลือกตั้งเหมือนกัน แต่เราได้มาเป็นรัฐบาล จากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้หรือไม่ 


สิ่งหนึ่งวันที่ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำ คือ กล้าเปลี่ยนแปลง และจะกลับมาเป็นสถาบันการเมืองที่ภาคภูมิ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง และต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ทำกันเองในองค์กร แต่ต้องทำให้ประชาชนและสาธารณะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของพรรค โดยต้องทำให้คนในพรรคอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง และต้องสื่อให้ประชาชนให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ การที่จะเปลี่ยนแปลงได้ต้องไปควบคู่กับ 2 สิ่ง คือ โอกาสของทุกคน และต้องมีความหวังให้กับประชาชน นั่นคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง


“พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่และจะอยู่ตลอดไปคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารพรรค สิ่งนี้จะยังอยู่คู่กับพรรค แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอากระจกมาส่องตัวเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ผ่านไป 100 ปีก็ไม่มีความหมาย 


ผมจึงอยากจะขอโอกาส พี่น้อง คนรุ่นใหม่ เยาวชน ไม่ได้ขอให้รักพรรคประชาธิปัตย์ แต่ขอให้เปิดใจให้กว้าง แล้วดูว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เชื่อมั่นเถอะประชาธิปัตย์คบได้ และคบได้โดยสนิทใจ เดินไปไม่ต้องกลัวโดนแทงหลัง” นายเฉลิมชัย ระบุ

                                       
ขณะที่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนแบบมีวุฒิภาวะ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ 3 ข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนประกาศในวันที่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ต้องไม่เปลี่ยน คือ 1.อุดมการณ์ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.อุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริต 3.อุดมการณ์แห่งการมุ่งมั่นในการรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน


“สิ่งที่เรายืนหยัดความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ต้องเป็นอุดมการณ์ที่ทันสมัย พรรคต้องก้าวให้ทันโลกสำคัญที่สุด ความคิด ความอ่าน ของประชาชน เป็นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าต่อ วันนี้คือ ตัวอย่างที่สะท้อน ก้าวสู่ความทันสมัย ด้วยการจัดงานฟังคิดทำ โดยคนรุ่นใหม่ เพื่อฟังความเห็นของคนกทม.และความเห็นของ คนไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ ไม่ฟังประชาชน เราฟังมาตั้งแต่วันแรก นโยบายทุกยุคทุกสมัยเกิดจากการฟังคิดทำ อยู่มาถึง 76 ปี  แต่ฟังคิด แค่นั้นไม่พอ เราต้อง ฟังเพิ่ม ทำเพิ่ม” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ