กมธ.จริยธรรมฯรับเรื่องสอบ"ศุภชัย โพธิ์สุ" ปมรุกป่าดงพะทาย นครพนม

04 ต.ค. 2565 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 21:36 น.

“กมธ.จริยธรรมฯ”รับเรื่องสอบ"ศุภชัย โพธิ์สุ”ครอบครองที่ดินป่าดงพะทาย จ.นครพนม พร้อมรับเรื่องสอบ“พีระวิทย์”เรียกรับเงิน แลกตำแหน่งในกมธ. แต่ไม่รับสอบกรณีแจกเงินแลกโหวตไว้วางใจรัฐมนตรี เมื่อ 2 ก.ย.64

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า จากกรณีที่ปรากฏข่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมฯ นัดพิจารณากรณีมีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบจริยธรรม นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง และ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย

 

กรณีการครอบครองที่ดินบริเวณป่าดงพะทาย ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นั้น ที่ประชุมฯ ยังไม่มีมติเป็นที่ยุติแต่อย่างใด เป็นเพียงการมีมติรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ไว้พิจารณาตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบ กลั่นกรองเท่านั้น

นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง

นายนิกร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมมีมติรับเรื่องร้องเรียน ให้ตรวจสอบจริยธรรม นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

 

กรณีเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อแลกกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสภาฯ นั้น ที่ประชุมรับได้พิจารณาข้อเท็จจจริงและพฤติการณ์แล้วเชื่อได้ว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีมูล ตามที่ผู้ร้องกล่าวหาจริง ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่หลอกลวงผู้เสียหาย เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบ

 

โดยขอเรียกรับเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้ามารับตำแหน่งใน กมธ.หรืออนุ กมธ.ซึ่งผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งทางการเมือง รวมทั้งตำแหน่งในอนุกมธ.และที่ปรึกษาอนุ กมธ.สภาฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงในการลงพื้นที่ ตามจำนวนเงินที่จ่าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและยินยอมจ่ายเงิน เพื่อเข้ารับตำแหน่งต่างๆ

 

แต่เมื่อผู้ถูกร้องได้รับเงินไปแล้ว ผู้เสียหายบางคน ไม่ได้รับการแต่งตั้งตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง หรือแม้แต่ผู้เสียหายบางคนได้รับการแต่งตั้งไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องจึงอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้ออบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ส.และ กมธ.พ.ศ.2563

นายนิกร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา กรณีขอให้ตรวจสอบการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2564 เกี่ยวกับการแจกเงิน 5 ล้านบาท ให้กับ ส.ส.นั้น

 

กรณีดังกล่าวเป็นการร้องเรียน ส.ส.3 ราย ซึ่ง กมธ.จริยธรรมฯ พิจารณาแล้วมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เนื่องจาก การร้องเรียน ส.ส.รายที่ 1 ที่ประชุมเคยมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ส่วนการร้องเรียน ส.ส.รายที่ 2 ยังไม่มีมูลเพียงพอ ที่จะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ส.ส.และ กมธ.ฯ

 

ส่วนการร้องเรียน ส.ส.รายที่ 3 นั้น ผู้ร้องมิได้แก้ไขหนังสือร้องเรียนให้เป็นไปตามระเบียบ กมธ.จริยธรรมฯ และกรณีให้ตรวจสอบ ส.ส.ที่ไปปรากฏตัวในพื้นที่การชุมชุมของเยาวชนปลดแอก และภาคีอื่นๆ ที่ร่วมชุมชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 และการใช้ตำแหน่ง ส.ส.ไปประกันตัวผู้ต้องหา ทาง กมธ.ก็ไม่รับเรื่องไว้ เนื่องจากเรื่องร้องเรียนไม่เป็นไปตามระเบียบของ กมธ.จริยธรรมฯ

 

รวมถึงกรณีให้ตรวจสอบจริยธรรม ส.ส.181 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ที่รับรองไว้