ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีชาวบ้านขอยกเลิกซื้อขายไฟเขื่อนไซยะบุรีของกฟผ.

17 ส.ค. 2565 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 19:44 น.

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงร้องขอให้สั่งยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีของกฟผ. เหตุไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ย้ำรัฐบาลไทยดำเนินการตามข้อตกลง การซื้อไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

วันที่ 17 ส.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ จ.เชียงราย, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  จำนวน 37คน นำโดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะรัฐมนตรี 


ว่า ร่วมกันดำเนินการโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีของกฟผ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมทั้งในฝั่งไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี  โดยขอให้ศาลพิพากษายกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว 


ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า คดีนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมในเรื่องการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไชยะบุรี ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และ สุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวบัญญัติไว้แต่อย่างใด 


อีกทั้งประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือ กิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบตาม มาตรา 47 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535  และขณะได้มีการดำเนินโครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายฟฟ้าโครงการไซยะบุรี นั้น ก็มิได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดส้อมก่อนดำเนินโครงการ 

ดังนั้น กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไขยะบุรีแต่อย่างใด  


อีกทั้งยังปรากฏว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการนำข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเท่าที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจากรัฐบาล สปป.ลาว ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification, Prior Consultation and Agreement : PNPCA) เกี่ยวกับการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีการดำเนินโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแล้ว  


ดังนั้น จึงฟังว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะผูกพันของราชอาณาจักรไทยตามข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538  จึงมิได้ละเลยหน้าที่แต่อย่างใด 


ประกอบกับ ศาลปกครองสูงสุดเคยได้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557  ว่า  ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดคนไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดในประเด็นที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว การที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2558 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน