นายกฯ รอรับ “โจ ไบเดน” เยือนไทยปลายปี หวังร่วมวงประชุมเอเปค

10 ส.ค. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 22:57 น.

นายกฯ หารือ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูต สหรัฐฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ พร้อมหวังว่าจะมีโอกาสให้การต้อนรับประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปีนี้

ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ นายไมเคิล ฮีธ (Mr. Michael Heath) อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือครั้งนี้ ว่า นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบหารือกับอุปทูตสหรัฐฯ อีกครั้ง พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีพลวัตเพิ่มมากขึ้นในทุกมิติ และมีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน 

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯ

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของอุปทูตสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในหลายมิติ โดยอุปทูตสหรัฐฯ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นอย่างดี ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างราบรื่น 

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่จะสานต่อภารกิจที่อุปทูตสหรัฐฯ ริเริ่มไว้ และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่อย่างเต็มที่

 

ทั้งนี้ อุปทูตสหรัฐฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าพบ แม้จะมีภารกิจมาก ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน 

 

พร้อมชื่นชมนโยบาย และบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจในไทยยังคงสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ เป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่าจะมีบทบาทในการสานต่อและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น 
 

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯ

 

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้ 

 

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 

 

นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยกับสหรัฐฯ มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า 

 

โดยเฉพาะการจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะช่วยกำหนดเป้าหมายและแนวทางความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอุปทูตสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น 

 

ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ 

 

นายกรัฐมนตรียินดีที่ประเทศได้รับการยกระดับขึ้นเป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2565 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ด้านอุปทูตสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จนเกิดผลเป็นรูปธรรม 

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งมั่นดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง

 

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี 

 

นายกรัฐมนตรียินดีที่สหรัฐฯ เพิ่มพูนบทบาทและปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค ผ่านกลไกความร่วมมือที่มีอยู่และกลไกใหม่ที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้น อาทิ Mekong-US Partnership กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)  

 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ด้านอุปทูตสหรัฐฯ ชื่นชมไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมมีบทบาทที่สร้างสรรค์ร่วมกับไทย  

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฝากความปรารถนาดีถึงประธานาธิบดีไบเดน สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

พร้อมหวังว่าจะมีโอกาสให้การต้อนรับประธานาธิบดีไบเดนในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2566 ต่อจากไทย