นายกฯไฟเขียวขยาย โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก จังหวัดชายแดนใต้

29 ก.ค. 2565 | 09:02 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2565 | 16:40 น.

นายกฯไฟเขียวขยายผลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกขนาดเล็ก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างรายได้เกษตรกรและชุมชนได้จริง

วันที่ 29 ก.ค. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี   และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเป้าสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

ทั้งนี้ มิติด้านพลังงาน เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการพัฒนาที่มีศักยภาพ โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกขนาดเล็กมากที่เชื่อมโยงการพัฒนาอย่างครบวงจร กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมเกษตรฐานราก ปศุสัตว์ วิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรมเกษตร

 

ผ่านการลงทุนร่วมที่เป็นมิตรระหว่างประชาชนและเอกชน มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร ประชาชนและชุมชน ในระยะต่อไป จะขยายผลโครงการโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 106.9 เมกกะวัตต์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการการบริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยที่ผ่านมาได้บริหารจัดการ 1) ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน อาทิ

 

ไผ่ กระถินเทพา หญ้าเนเปียร์ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจกว่า 60 กลุ่ม รวม 12,400 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 1.5 แสนไร่ 2) ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกิจกรรมเมืองปศุสัตว์โครงการโคบาลชายแดนใต้ 1,000 กลุ่ม ครอบคลุมจังหวัด นราธิวาส สงขลา สตูล ปัตตานี และยะลา เชื่อมโยงการผลิตภาคอุตสาหกรรมครัวเรือนต่างๆ

 

3) มีนโยบายจัดสรรพื้นที่ดินสาธารณะเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำได้สามารถเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเพื่อทำเกษตรฐานรากที่มีตลาดรองรับแน่นอน กว่า 100,000 ไร่ และ 4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในกิจการพลังงานระยะที่หนึ่ง 150 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็น ชีวมวล 15 โรง และ ชีวภาพ 75 โรง ซึ่งนำไปสู่การจ้างงานทางตรง 800 คน การจ้างงานทางอ้อม 12,000 คน วิสาหกิจชุมชนร่วมลงทุน 10%

 

ทั้งนี้ เอกชนจะต้องทำงานกับเกษตรกรและประชาชนอย่างจริงจัง ครอบคลุมเรื่องเกษตรฐานรากและปศุสัตว์เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ ที่สำคัญจะต้องไม่มีการซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์ของเอกชนเป็นฝ่ายเดียวเช่นที่ผ่านมา

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า การจัดตั้งโรงไฟฟ้ามีหลักการทำงานที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ มีเป้าหมายการใช้เงินกองทุน 3 เรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมคนดีคนขยันเพื่อไปประกอบพิธีการทางศาสนาตามที่ตนเองนับถือ เช่น คนไทยนับถือศาสนาอิสลามไปทำฮัจญ์ หรือ อุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คนไทยนับถือศาสนาพุทธ เดินทางไปสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย และคนไทยเชื้อสายจีน เดินทางสักการะพุทธศาสนา ณ ประเทศจีน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อให้ศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อการมีงานทำ และสุดท้ายนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาตามความจำเป็นและความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

 

ในระยะต่อไป รัฐบาลจะขยายผลโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ยังมีโควต้าเหลืออยู่ มีกำลังการผลิตรวม 106.9 เมกกะวัตต์ ตามความสอดคล้องของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)

 

รวมถึง กระทรวงพลังงานจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ 265 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสนับสนุนการขยายพื้นที่การปลูกพืชพลังงาน สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับ ศอ.บต.ในช่วงปี 2566 และ 2567

 

"นายกรัฐมนตรีติดตามการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกอย่างไกล้ชิด เพราะจะสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน

 

 และพร้อมจะให้การสนับสนุนแก่ประชาชน ผู้ประกอบการและชุมชนที่มีความพร้อม"