“พิมพ์รพี”อัดกระทรวงท่องเที่ยวจัดงบไม่สนวิกฤติ ไม่สอดรับเที่ยววิถีใหม่

02 มิ.ย. 2565 | 18:18 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2565 | 01:25 น.
992

“พิมพ์รพี”อภิปรายงบ 66 อัดกระทรวงท่องเที่ยวจัดงบไม่สนวิกฤติ ไม่สอดรับท่องเที่ยววิถีใหม่ เตือนอย่าโลกสวย นักท่องเที่ยวทะลักยังไม่ใช่ของจริง เหตุ 35% คือ จีน ยังไม่เปิดประเทศ บี้บูรณาการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ปั้นเป็นซอฟพาวเวอร์ เสริมท่องเที่ยวไทย

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่า มีความสนใจเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว กับการจัดงบประมาณทั้งที่ผ่านมาและในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ควรปรับปรุงและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างไร 


จากความคาดหวังว่าเปิดประเทศคราวนี้ คือการเริ่มรีสตาร์ตธุรกิจท่องเที่ยว ตัวเลขจากสภาพัฒน์ มีการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวว่า จะเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังติดลบมาหลายปีจากพิษโควิด-19 โดยคาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 10 ล้านคน และเพิ่มอีกเท่าตัวในปี 2566 เป็น 20 ล้านคน สร้างเม็ดเงินให้บ้านเราได้ราว 1.44 ล้านล้านบาท 

ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้งบประมาณไป 5,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 237 ล้านบาท เปิดดูไส้ในยังไม่เห็นการจัดงบประมาณแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเตรียมรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ สร้างคำตอบใหม่ๆ ในการหารายได้เข้าประเทศ เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ มาเป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการจัดงบในแบบเดิม ๆ ทั้งที่เราอยู่ในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยว


“ดิฉันขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ล่าสุด โนรา ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมนุษยชาติ ไปเปิดแสดงบนเรือกอนโดลา ที่นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เป็นซอฟเพาเวอร์ไทยสู่สายตาชาวโลก แต่เราทำอะไรกับซอฟเพาเวอร์นี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวบ้าง 


กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมบ้างหรือไม่ จัดงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านกันมากน้อยแค่ไหน จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นว่า เราจะยกระดับความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ทั้งที่เป็นสินทรัพย์ที่แม้จับต้องไม่ได้ แต่เพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวได้ จึงอยากให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ให้เป็นซอฟพาวเวอร์ไทยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่มีแต่คำพูด” ดร.พิมพ์รพี กล่าว


ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุด้วยว่า ที่สำคัญคือ เราจะหลงไปกับภาพลวงตาของตัวเลขการเดินทางเข้าประเทศไม่ได้ เพราะ 100 % ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย 30 % มาจากภายในประเทศ อีก 35 % มาจากประเทศจีน ที่เหลือคือ นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ จนถึงขณะนี้นักท่องเที่ยวจากจีน ยังเดินทางมาไม่ได้ 


“การจะหวังสูงกระโดดตัวเลขไปว่าปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากถึง 20 ล้านคน อาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป ซึ่งจะทำให้กำหนดทิศทางนโยบายผิดพลาดได้” 


อีกประเด็นที่อยากให้มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล คือการกำหนดงบประมาณแบบผูกพันกันยาวนาน อ้างเรื่องการท่องเที่ยว สุดท้ายกลับใช้งานไม่ได้ เช่น พิพิธภัณฑ์เรือหลวงลันตา ที่อบจ.กระบี่ ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 227 ล้านบาท เริ่มปรับปรุงเรือหลวงลันตา มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 จนถึงปัจจุบันยังเปิดใช้งานไม่ได้ ขณะนี้เป็นได้แค่วอลเปเปอร์ในเทศกาลประดับไฟ Aqua Lumina มหัศจรรย์แสงเรืองรองท้องทะเลอันดามัน ที่กระบี่ที่เพิ่งเปิดงานกันไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาเท่านั้น 


แต่ภายในที่คุยโวไว้อย่างอลังการว่า จะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ของดี เมืองกระบี่ จนถึงขณะนี้ประชาชนยังไร้โอกาสได้ไปสัมผัส และยังไม่ความชัดเจนด้วยว่าจะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ใช้งบประมาณปรับปรุงเรือหลวงลันตามากกว่า 227 ล้านบาทนี้เมื่อไหร่ 


ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะลำบาก การใช้งบประมาณต้องตรงเป้า มีประสิทธิผล ไม่ใช่ใช้งบประมาณไปกับการก่อสร้าง ที่สุดท้ายใช้ประโยชน์ไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตง.และ ป.ป.ช.ควรเข้าไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน หากพบมีการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า หรือเกิดช่องโหว่ในการทุจริต ก็ต้องดำเนินการกับผู้รับผิดชอบอย่างเด็ดขาด เราไม่มีเงินเหลือให้รั่วไหลอีกแล้ว