วัชระ ทวงค่าปรับเอกชน ก่อสร้างอาคารรัฐสภา ล่าช้ากว่า 6 พันล้าน

26 พ.ค. 2565 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 22:34 น.

วัชระ ทวงค่าปรับเอกชน ก่อสร้างอาคารรัฐสภาล่าช้ากว่า 6พันล้านบาท พร้อมยื่นสอบสาธิตอ้างคำพูดชวนเร่งตรวจรับอาคารสภาก่อนเอเปก

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนวินัยนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่กล่าวอ้างคำพูดของประธานรัฐสภา 

 

 และขอให้สอบจริยธรรมนายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ รองโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีแถลงข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 เวลา 15.00น.

 

กรณีที่ตนเปิดเผยว่านายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 นั้น 
 

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ขอยืนยันว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประชุม 407 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ดังนี้

1. นายปรีชา  ชวลิตธำรง   ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา
2. นางพรพิศ  เพชรเจริญ   เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
3. นายสาธิต  ประเสริฐศักดิ์   รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ประธานกรรมการ

4. นางสาวศุภพรรัตน์  สุขพุ่ม  รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  กรรมการ
5. นายธนปรัชญ์  คงปาน   นิติกร สำนักกฎหมาย  กรรมการ

6. นายเทเวศร์  อุตวิชัย   สถาปนิก กรุงเทพมหานคร กรรมการ
7. นายธิติ  ทรงเจริญกิจ   วิศวกรโยธา กรุงเทพมหานคร กรรมการ
8. นายโชติจุฑา  อาจสอน   บริษัทที่ปรึกษา (CAMA)
9. นายพิฑูรย์  มณีศรี   บริษัท ผู้ควบคุมงาน (ATTA)
10.นายสุทธิพล  พัชรนฤมล ผู้แทนบริษัทซิโน-ไทยฯ 

โดยการประชุมมีนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในที่ประชุมและเป็นผู้ดำเนินการประชุมทั้งหมด นางพรพิศ เพชรเจริญ นั่งด้านขวาของนายสาธิต และนายปรีชา ชวลิตธำรง นั่งด้านซ้ายของนายสาธิต 

การที่นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปว่าตนได้อ้างว่า

 

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

1.ในการประชุมมีการกล่าวอ้างดำริประธานรัฐสภาว่าได้ให้นโยบายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้เสร็จก่อนการประชุมเอเปค ในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

 

2.มีการตำหนิบริษัทควบคุมงาน (ATTA) และบริษัทที่ปรึกษา (CAMA) ว่าเหตุผลจึงให้ความเห็นไม่สอดคล้องกัน ความจริงมีประเด็นที่ 3 คือ นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้าง ได้กล่าวอ้างจะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมที่จะมาตรวจรับงานด้วยทุกครั้ง

 

ทั้ง 3 ประเด็นล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างของนายสาธิตที่ได้พูดต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น มิได้เป็นคำพูดของนายวัชระ เพชรทอง แต่ประการใด และนายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมดังกล่าว จะรู้ข้อเท็จจริงได้อย่างไร

 

การแถลงข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นการผิดจริยธรรม ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภา ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ข้าราชการรัฐสภาต้องรู้รักสามัคคี มีจิตสํานึกที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยยึดมั่นปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักคุณธรรม มีความซื่อตรง ไม่คดโกง ปฏิบัติหน้าที่ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสีย” ซึ่งขอให้สอบสวนจริยธรรมกับนายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญต่อไป


กรณีนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 เป็นที่สังเกตว่าไม่มีการเชิญกรรมการตรวจการจ้างอีก 3 คนคือ นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน และนายณัฐสิทธิ์ เวียงทอง ซึ่งเป็นผู้ทำบันทึกข้อความตามที่อ้างถึง

 

2 เสนอความเห็นกรณีผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้รับจ้างแต่อย่างใด

 


เมื่อกรรมการตรวจการจ้าง 3 คน ที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ได้เข้าร่วมประชุมแล้วที่ประชุมในวันดังกล่าว จะรู้ถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างไร นายสาธิต  ได้กล่าวยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้าง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 ว่าจะไม่มีการจัดประชุมในลักษณะเช่นนั้นอีก

 

เมื่อมีการสอบถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการเชิญกรรมการเสียงข้างน้อย จำนวน 3 คน เข้าร่วมประชุมด้วย นายสาธิต ได้แต่นั่งนิ่งเงียบและไม่ตอบคำถามนี้แต่อย่างใด ดังนั้น คำแถลงข่าวของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 ที่ผ่านมาจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

 

ทั้งนี้ความจริงนั้นควรจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนนายสาธิตว่ามีการกล่าวอ้างดำริของประธานรัฐสภาว่าได้ให้นโยบายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้เสร็จก่อนการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้จริงหรือไม่

 

และหากคำพูดไม่ตรงความจริงจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยนายสาธิตที่ทำให้ประธานรัฐสภาเสียหายต่อไปโดยเร็วที่สุด และขอให้สอบจริยธรรมนายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ กรณีแถลงข่าวไม่ตรงข้อเท็จจริงต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนายวัชระ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ได้ชูป้ายระบุข้อความว่า "การต่อสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ครั้งที่ 4 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

วันนี้ 26 พฤษภาคม 2565ล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญา จำนวน 511 วันค่าปรับวันละ 12,280,000 บาท รวมเงินค่าปรับทั้งสิ้น 6,275,080,000 บาท วันสิ้นสุดการขยายสัญญา วันที่ 31 ธันวาคม 2563นับถึงวันนี้ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ผิดนัดแล้วจำนวน 511 วันคิดเป็นค่าปรับ 6,275,080,000 บาท

สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเรียกค่าปรับจากผู้รับเหมาแล้วหรือยัง ?"