ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

12 พ.ค. 2565 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 01:33 น.

“บิ๊กปั๊ด” ผบ.ตร.นัดถกด่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อหลงโอนเงิน

บ่ายวันนี้ (12 พ.ค.65) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เชิญหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย น.ส.อัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการ ปปง., ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, กสทช., ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 

                                    ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารกรุงไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครือข่าย หารือแนวทางแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ อาชญากรรมทางออนไลน์ ที่ขณะนี้กำลังระบาดอย่างหนัก 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์เมื่อวันที่ 1 มี.ค.- 10 พ.ค.65 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบ 22,426 คดี ความเสียหายเฉลี่ยกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเดือน มีการแจ้งความเฉลี่ยวันละ 300 คดี 

                  ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงด้านการเงิน มีคดีที่มีความเชื่อมโยงกันถึง 5,079 คดี ขออายัดเงินไปแล้ว 6,593 บัญชี จากยอดเงิน 2,069,440,817 บาท โดยสามารถอายัดเงินได้ทัน 76,363,871 บาท 

อย่างไรก็ดี คนร้ายเปลี่ยนรูปแบบวิธีการอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบหรือสะกดรอยจากเจ้าหน้าที่ โดยพบว่า คนร้ายมักใช้การโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (VOIP) ทำให้ยากต่อการสืบสวนติดตาม และมีการจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีเพื่อใช้ในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย หรือที่เราเรียกว่า "บัญชีม้า" 

 

จากนั้นจะทำการโอนเงินต่อไปอีกหลายบัญชี โดยบัญชีสุดท้ายจะมีการโอนเงินซื้อเหรียญ "คริปโตเคอเรนซี่ แบบ peer-to-peer" จากแอปแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการอายัดเงิน และระบุตัวผู้กระทำผิด 

                                            ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์                      
ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า จากการหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า 


1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เช่น การอายัดบัญชีม้า รวมถึงโมบายแบงค์กิ้งค์ที่ผูกกับบัญชีม้า และจะพัฒนาปรับปรุง วิธีการอายัดบัญชีม้าแถว 1 และแถวถัดๆ ไปให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะหารือร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นจะร่วมกับ ตร. เสนอแก้ไขกฎหมาย ให้บัญชีม้าอยู่ในมูลฐานความผิดฟอกเงิน เพื่อให้ ปปง.มีอำนาจในการอายัดเงินในบัญชี

 

 2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะช่วยในการอายัดบัญชีม้า โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งข้อมูลบัญชีม้าทั้งหมด เพื่อให้ ปปง.ใช้อำนาจในการอายัด นอกจากนี้จะรายงานให้สำนักงานตำรวจทราบถึงการทำธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวน

                            ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์
 3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินคดีกับผู้ค้าขายเหรียญแบบ peer-to-peer และการวางแนวทางในการยึดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่จากผู้กระทำความผิด


 4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์จำนวนซิมสูงสุดที่สามารถลงทะเบียน เช่น ต่อคนได้ไม่เกิน 5 ซิม ซึ่งอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


 5. การแจ้งเตือนและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน (Cyber Vaccine) ผ่านแอปธนาคาร แอพเป๋าตังค์ และข้อความสั้นจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่น "ระวังถูกหลอก...ห้ามโอนเงินให้ทุกกรณี หากท่านยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รับโอนเงินได้ด้วยการขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรไปคุยด้วย" , “เมื่อได้รับสายจากโทรศัพท์อัตโนมัติ..ให้ตัดสายทิ้งทันที” เป็นต้น


 โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ 


 ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คนร้ายมีพันธมิตรในการโยกเงินออกต่างประเทศ แต่ตำรวจต้องทำการสืบสวนอย่างโดดเดี่ยว คนร้ายใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ตำรวจต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบกฎหมาย ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

                                  ผบ.ตร.ถกด่วนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนคลอด 5 มาตรการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“แต่วันนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะกำหนดมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น ผมเชื่อว่าไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ต้องรวบรวมใช้อำนาจหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานมี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เพราะถ้าเราไม่ทำวันนี้ มันก็จะขยายตัวมากขึ้น และเทคโนโลยีก็จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเราก็จะตามไม่ทัน" 


 จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนว่า อย่าตกเป็นเหยื่อหลงโอนเงิน หรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครง่ายๆ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อน หากมีข้อมูลสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม. หรือ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com