วาระร้อนสภา นายกฯ สำรอง เขย่าเก้าอี้“บิ๊กตู่”

08 พ.ค. 2565 | 08:30 น.
516

วาระร้อนสภา นายกฯ สำรอง เขย่าเก้าอี้“บิ๊กตู่” : หากปล่อยให้เปิดสภา แล้วถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะทำให้นายกฯ เหมือนเดินเข้าสู่ลานประหาร

การเมืองช่วงนี้ เรื่องที่อยู่ในกระแสและมีการพูดถึงกันมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่อง “นายกฯ สำรอง”

 

ต้นตอของประเด็นนี้มาจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุน บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่ามีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากเกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” กับ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 


“อุบัติเหตุทางการเมือง” ที่ว่านั้น จะเกิดจากกรณีใดได้บ้าง... จากการประเมินแนวโน้มทางการเมืองของหลายๆ ฝ่าย ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “รัฐบาลบิ๊กตู่” อาจเผชิญกับอุบัติเหตุไปต่อไม่ได้ และอาจต้อง “ยุบสภา” ก่อนครบวาระของรัฐบาลในวันที่ 23 ส.ค.2566 โดยจังหวะเวลาที่ยุบสภา คือ ช่วงก่อนเปิดสภาสมัยสามัญ 22 พ.ค.2565 นี้

วาระร้อนประชุมสภา

 

เนื่องจากมี “มรสุม” หลายลูกที่รัฐบาลจะต้องเผชิญศึกหนัก ประกอบด้วย


1.การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 วันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งจะมีวาระการประชุม และกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาหลายเรื่อง แต่ละเรื่อง รัฐบาลแพ้ไม่ได้ 


- ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เป็นกฎหมายการเงินที่สำคัญ ซึ่งนัดพิจารณากันวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ถ้ารัฐบาลแพ้โหวต แม้แต่ในชั้นรับหลักการ ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยเสียงที่ใช้คว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ คือ 238 เสียง 

- ร่างกฎหมายการเงินอื่นๆ ที่อาจเข้าสู่วาระการพิจารณา เช่น กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 


- การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ "ศึกซักฟอก" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว “นายกรัฐมนตรี” จะไม่มีอำนาจยุบสภา ทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองของ “นายกฯ” ลดลง และจะถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นำไปสู่การซื้อตัว ส.ส. แจก “กล้วย” กันจ้าละหวั่น เพื่อโหวตคว่ำ และ โหวตสนับสนุนรัฐบาล 


2.ร่างแก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ที่จะส่งเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา โดยขณะนี้มีความเห็นแย้งกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เกี่ยวกับประเด็น "ส.ส.พึงมี" และ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลตามมา คือ ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ 


8 ปีนายกฯรอชี้ชะตา


3.การยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้ายแล้วหรือไม่ เพราะหากนับเวลาการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่หลังยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 จะครบ 8 ปีในเดือนส.ค.นี้ 


กรณีข้างต้นทำให้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่นายกรัฐมนตรีอาจตัดสินใจ "ยุบสภา” ก่อนเปิดสภา 


เพราะขืนหากปล่อยให้ “เปิดสภา” แล้วถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะทำให้ “นายกฯ” เหมือนเดินเข้าสู่ "ลานประหาร" ไม่มีอำนาจต่อรองเหลืออยู่ “ยุบสภา” ไม่ได้ 


จึงไม่แปลกที่เวลานี้จะมีการพูดกันถึงเรื่อง “นายกฯ สำรอง” หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น

                                     วาระร้อนสภา นายกฯ สำรอง เขย่าเก้าอี้“บิ๊กตู่”


“วิษณุ”แจงนายกฯสำรอง


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ตนยังไม่รู้เลยว่านายกฯ สำรอง ที่พูดๆ กันแปลว่าอะไร และสำรองตอนไหน ตอนนี้หรือหลังเลือกตั้ง คำพูดคำนี้ทำท่าเหมือนกับมีคนพูดขึ้นมาก่อน และความหมายคืออะไรไม่ทราบ ต้องไปถามคนที่พูด ซึ่งไม่ต้องไปพูดหรอกว่านายกฯ สำรอง หรือไม่สำรอง สุดท้ายเริ่มต้นลำดับที่ 1 คือ ต้องดูจากบัญชีรายชื่อ (บัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคการเมือง) ที่เหลืออยู่และที่มีอยู่


ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนจะเป็นนายกฯ สำรอง ต้องมีนายกฯ รักษาการก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ใช่ จะต้องมีคนใดคนหนึ่งรักษาการ จะว่างเว้นนายกฯ ไม่ได้ เมื่อซักต่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ รักษาการ คนแรกใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่” 


นายวิษณุ ยังย้อนถามว่า เหตุใดจึงต้องมีนายกฯ รักษาการ ผู้สื่อข่าวตอบกลับไปว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรณีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า สมมติว่า เกิดมีคำวินิจฉัยว่า เข้า 8 ปี ถ้าอย่างนั้น ผู้เป็นนายกฯ รักษาการก็เป็นไปตามลำดับที่เรียงไว้ คนแรกคือ พล.อ.ประวิตร และคนที่สอง คือ ตน โดยนายกฯ รักษาการสามารถยุบสภาฯ ได้ แต่ไม่เคยทำ


“จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องจัดให้มีการเลือกนายกฯ คนใหม่ ภายใน 3-7 วัน เหมือนกับการเลือกนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา โดยใช้บัญชีที่มีอยู่ นี่แหละคือ สำรอง ซึ่งประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) นายอนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) 5 คนนี้คือ บัญชีสำรอง”


“บิ๊กป้อม”เอาตามวิษณุว่า


เมื่อถามว่ารณีหากเลือกกันไม่ได้ ต้องไปใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง เพื่อเปิดทาง “นายกฯ คนนอก” ได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ ตอบว่า ต้องมีผู้เสนอคือ ส.ส. 250 คน เสนอว่า ให้ล้มบัญชีที่มี และเอาบัญชีใหม่ และประธานประรัฐสภาก็เรียกประชุมรัฐสภา โดยรัฐสภาต้องมีมติ 500 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ความเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบก็จะมี ส.ส. 50 คน เสนอชื่อ และประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อโหวตทั้งรัฐสภา ว่าจะเอาชื่อไหน กระบวนการทำได้ แต่ซับซ้อน


ผู้สื่อข่าวถามว่าถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปถึงจุดนั้นใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า “ไม่ตอบยากหรือไม่ยาก คุณฟังแล้วว่ายากหรือง่าย บางคนบอกอาจจะง่ายนิดเดียว เพราะสามารถทำได้ ก็ไปทำเอา แต่ก็จะมีอายุถึงเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับอายุของสภาฯ ผมก็ไม่รู้จะมาพูดทำไมเรื่องนายกฯ สำรอง สำรองมีอยู่แล้วคือ 5 คน ที่ผมบอกไป ใครที่ไม่อยู่ในนี้ไม่ใช่สำรองทั้งนั้น แต่อันนี้จะเรียกสำรองบอกไม่มี ก็ไม่ได้ มันก็มีอยู่แค่นี้อย่างที่พูดกฎกติกาเป็นอย่างนั้น สำรองถูกต้องตามกฎหมาย”


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 ถึงประเด็นเรื่องนายกฯ รักษาการ ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกแล้ว เอาตามนายวิษณุ


“อนุทิน”แจงนายกฯสำรอง


ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงถึงกรณีมีชื่อเป็นนายกฯ สำรอง หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นผลพวงจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคการเมืองใส่ชื่อบุคคลที่เห็นว่า ควรจะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ


ส่วนที่คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม สถานการณ์นายกฯ จะย่ำแย่ ทั้งในเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสถานการณ์รัฐบาล พรรคภูมิใจไทยจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า “เราสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้วในการทำงานร่วมกัน นายกฯ ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้มอบนโยบายให้แก่กระทรวง หากมีการอภิปรายทุกคนจะต้องช่วยกันชี้แจง หากไม่ใช่เรื่องที่ชี้แจงไม่ได้ หรือเป็นเรื่องทุจริตที่เห็นได้ชัด  


ไม่มีนายกฯสำรอง


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร จะขึ้นเป็นนายกฯ รักษาการ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่ามี เพราะตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งตามกลไกของรัฐธรรมนูญ มีเรื่องของการรักษาการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกฯ หรือรองนายกฯ ตามระบบบริหารราชการแผ่นดิน 


แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะพูดหรือตัดสินใจอะไรตอนนี้ และส่วนตัวไม่ทราบว่าจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นหรือไม่ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ต่างๆ


ส่วนโอกาสที่จะมีนายกฯ คนนอกหรือไม่นั้น นายชัยวุฒิ ตอบว่า เป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่มติจะผ่านหรือไม่ ไม่ทราบ “นึกไม่ออก หากนายกฯ รักษาการชิงยุบสภาก่อน จึงขอให้รอถึงเวลาก่อน” พร้อมกับย้ำว่า “คงไม่มีใครมานั่งคุยกันตอนนี้เรื่องนายกฯ คนใหม่” 


อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถึงเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะมีฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายตรงข้าม ตั้งประเด็นข่าว หรือ กระแสกดดันมาที่รัฐบาล เพื่อลดความเชื่อมั่น ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถคุมเสียงอยู่ได้ และจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ