กอร์ปศักดิ์ แนะรัฐเครดิตการคลังดี กู้เงินฟื้นฟูศก.แต่ต้องมีวินัยจัดสรรงบ

05 พ.ค. 2565 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 18:36 น.

"กอร์ปศักดิ์" โชว์เก๋า! ทวิตแนะรัฐเครดิตการคลังดี กู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ถ้าขาดวินัย ประเทศมีสิทธิล่มสลายได้

 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า ทวิตข้อความระบุเปรียบเทียบศักยภาพ ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ของเอกชน และรัฐบาล ว่า  เอกชนจะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเลขรายได้

 

เพราะรายได้ทำหน้าที่เป็นเพดานในการกู้เงิน รัฐบาลกู้เงินง่ายกว่าเอกชน เนื่องจากเครดิตประเทศดี จะกู้มากน้อยแค่ไหนไม่เป็นปัญหา แต่หากรัฐบาลกู้อย่างงมงาย ขาดวินัยทางการเงินการคลัง ประเทศมีสิทธิล่มสลายได้เหมือนกัน

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีพรบ.วินัยทางการเงินการคลัง 2561 กำกับการกู้เงินของรัฐไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง กฎหมายให้มีการกำหนดสัดส่วนการกู้และภาระหนี้ ถ้าเป็นหนี้สาธรณะ กำหนดเพดานที่ 60% ของจีดีพี

 

ส่วนภาระหนี้ของรัฐในแต่ละปี ต้องไม่เกิน 35 % ของรายได้ในปีนั้นๆ ประกาศเมื่อ 7 มิถุนายน 2561 และ  เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 มีการแก้ไขตัวเลขเพดานการกู้เงินที่นับเป็นหนี้สาธรณะ จาก 60% เป็น70% ของจีดีพี สาเหตุจากการกู้เงินจนทะลุเพดานของรัฐบาล

 

ถ้าไม่ปรับเพดานใหม่ จะเป็นการกู้ทะลุเพดาน ผิดกฎหมาย แก้แล้วจึงไม่ผิด หนี้สาธรณะของรัฐบาลเมื่อ กันยายน 2561 อยู่ที่ 41.70% และสูงขึ้นติดเพดานเมื่อ กันยายน 64 ที่ 58.15 % เพดานกำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพี รัฐไม่มีทางออก รายได้ไม่พอ ต้องกู้เพิ่ม แต่เมื่อกู้เพิ่ม ตัวเลขจะทะลุเพดาน การแก้ปัญหาของรัฐบาลคือ ขยับเพดานให้สูงขึ้นจาก 60% เป็น 70%

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

 สำหรับภาระหนี้รายปีของรัฐบาล น่าเป็นห่วงเหมือนกัน จากเมื่อเดือนกันยายน 2561 ภาระหนี้อยู่แค่ 19.17% พอมาถึงกันยายน  2564 ตัวเลขสูงก้าวกระโดดไปที่ 32.27 % เพดานกำหนดไว้ที่ 35% ของรายได้ ห่างเพดานไม่มาก ไม่แน่ใจว่าจะขยับเพดานตัวนี้อีกหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป

 

 ไม่แปลกที่กรณีวิกฤติ อาจต้องขยับเพดานเงินกู้ แต่ที่แปลกคือกฎหมายให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจแก้ไขเพดาน ไม่ต้องผ่านสภา

 

นายกอร์ปศักดิ์ได้กล่าวย้ำให้ "รัฐบาล ประหยัด รู้และเข้าใจถึงการจัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินงบประมาณ โดยต้องกู้อย่างมีวินัยทำ ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ แต่เมื่อมีการขยับเพดานเงินกู้ อาจทำให้ภาคเศรษฐกิจเสียความเชื่อมั่นในการบริหารงานด้ายเศรษฐกิจการเงินการคลัง"