"บิ๊กป้อม"ตั้ง"สมศักดิ์"ประธานยุทธศาสตร์พปชร. วาง5แนวทางสู้ศึกเลือกตั้ง

27 เม.ย. 2565 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 20:23 น.

"บิ๊กป้อม"ตั้ง"สมศักดิ์"นั่งประธานยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ แทน"พล.อ.วิชญ์" หลังไขก๊อกนั่งหัวหน้าเศรษฐกิจไทย พร้อมวางกรอบทำงาน 5 ด้าน สู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า


 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยให้มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค แทน พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ได้ลาออกไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศษฐกิจไทย

 

ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ กรรมการบริหารพรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายประสาน หวังรัตนปราณี เป็นกรรมและเลขานุการ และว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

 

สำหรับคำสั่งแต่งตั้งมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยตามปรากฏการณ์ความนิยมในพรรคการเมืองมีธรรมชาติที่แท้จริงอย่างหนึ่ง คือ การไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามผลงาน ศรัทธาของประชาชนและบทบาทการแสดงของสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ นอกจากผลงานที่จะส่งไปให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เกิดความรัก ความศรัทธาในพรรคการเมืองแล้ว ความสามัคคีของสมาชิกพรรคจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า มีความเข้มแข็งมากพอที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้

 

เมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการแข่งขันทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย จึงถือเป็นงานที่ท้าทายคณะกรรมการทุกคนที่จะมาร่วมกันเติมความรัก ทำให้พรรคเฟื่องฟู โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า ความสามัคคีของพรรค จะเป็นความหวังของประชาชนที่ศรัทธาเรา


โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานของพรรคพลังประชารัฐให้เป็น ความหวัง ความศรัทธา และเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้

 1.ด้านกิจกรรมสัมพันธ์ มีเป้าหมายที่จะสร้างความคุ้นเคยของเหล่าสมาชิกพรรคทุกระดับผ่านกิจกรรมที่จะทำงานกันเป็นทีม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน หลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมรวมหมู่พร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมาถึง

 
2.ด้านการพัฒนาพรรค มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพรรค เช่น สถานที่ทำงาน ระบบสื่อสารภายในพรรคให้พร้อมที่จะรองรับการติดตามงานที่รัฐบาลในพื้นที่เพื่อใช้ในการเพิ่มผลงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและผู้สมัครในอนาคต

 

3.ด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น มีหน้าที่ในการคิดค้นรูปแบบการทำกินแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนให้มีอาชีพทำกินต่อได้ โดยสามารถใช้งบประมาณจากโครงการของรัฐที่มีอยู่สนับสนุน โดยให้สมาชิกของพรรคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการต่างๆ เหล่านั้น


4.ด้านการสร้างการมีส่วนร่วม มีหน้าที่ในการสร้างกิจกรรมกับบุคคลภายนอกผ่านกิจกรรมแบบจิตอาสา ให้เกิดความรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับรัฐบาล

 

5.ด้านสื่อประชาสัมพันธ์และการข่าว มีภารกิจในการจัดหาและจัดทำ ประเด็นข่าว มุมข่าว ที่เพิ่มความเชื่อถือในพรรคและสามารถต่อต้านข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ของพรรคได้ในการกำกับ ดูแล ติดตามการดำเนินงานของพรรคในด้านกิจกรรมสัมพันธ์ ด้านการพัฒนาพรรคเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้านการสร้างการมีส่วนร่วม ด้านประชาสัมพันธ์ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นของพรรคต่อประชาชน

 

รวมถึงการบริหารจัดการภายในพรรค โดยเป็นการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือกลุ่มบุคคลเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย รวมถึงการปฏิบัติงานอื่นใดตามที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมอบหมาย