ส่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองไทย

20 เม.ย. 2565 | 08:30 น.
628

ส่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองไทย : การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

ช่วงนี้เรื่องเกี่ยวกับ “จริยธรรรมนักการเมือง” ถูกพูดถึง และมีการถามหากันให้เซ็งแซ่ เพราะมีเรื่องราวและคดีความเกิดขึ้นกับ “นักการเมือง” หลายคนที่เกี่ยวโยงถึงเรื่องจริยธรรม  


“จริยธรรมนักการเมือง” เป็นเรื่องที่ชวนให้น่าสนใจขึ้นมา เพราะก่อนหน้านี้ นักการเมืองดังอย่าง “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก็ถูก “ศาลฎีกา” พิพากษาลงโทษให้มีความผิด “จริยธรรมร้ายแรง” กรณีบุกรุกพื้นที่ที่ป่าสงวนที่จังหวัดราชบุรี จนต้องพ้นจากตำแหน่งส.ส., ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี    

ขณะที่นักการเมืองคนอื่น ๆ ที่หมิ่นเหม่เข้าข่ายเรื่อง “จริยธรรม” ก็เช่น กรณีของ  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากเฟซบุ๊กไลฟ์หัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย" เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564

 

โดยศาลได้อนุญาตให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินประกัน 90,000 บาท พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามกระทำการใด ๆ ตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยศาลนัดตรวจพยานในวันที่ 6 มิ.ย.2565

ถัดมาเป็นเรื่องของ แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กรณีคลิปเสียงสนทนากับ จุรีพร สินธุไพร ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องโควต้าหวยออนไลน์ จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อใช้หาเสียงเลือกตั้ง


“การที่ผมลาออกนั้น ถือว่าได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องดีที่สุดแล้ว เพราะผมเองมีความสำนึกรับผิดชอบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของนายกฯ และรัฐบาล รวมถึงยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้น” แรมโบ้ ระบุถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ 


ล่าสุดนักการเมืองที่ถูกพูดถึงเรื่องจริยธรรมก็คือ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เผชิญกับการถูกกล่าวหาลวนลาม อนาจาร และ ข่มขืน จนเจ้าตัวต้องประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งการเมืองและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิต 


+ชื่นชม“แรมโบ้-ปริญญ์”


นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “นักประชาธิปไตยที่แท้จริง” ระบุว่า


นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีเหตุผลที่ตัดสินใจ เพราะมีความสำนึกรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน เพื่อให้เป็นตัวอย่างและบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมือง กรณีคลิปเสียงโทรศัพท์


หรือแม้แต่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ ต่อข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ ที่ทุกฝ่ายรับทราบกันแล้ว


“ผมคิดว่า ผิดหรือถูก ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ แต่อย่างน้อย การที่ทั้งสองท่าน ได้ตัดสินใจลาออกนั่นคือ ตัวอย่างและบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมือง ที่นักการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยต้องปฏิบัติยึดถือ


อย่างน้อยต้องขอชื่นชม การตัดสินใจของทั้งสองท่าน ว่ามีส่วนช่วยรักษาประชาธิปไตยของประเทศ ที่จับต้องได้จริง ต่างจากพวกที่บอกว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย สมัยที่มีอำนาจ ถูกตรวจสอบหลักฐานชัดเจน ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ


บางคนถูกดำเนินคดี หรือขนาดศาลตัดสินแล้ว ยังไม่สำนึก ยังบอกว่าถูกกลั่นแกล้ง ขอชื่นชมว่า ทั้งสองท่านคือนักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยที่ไม่ต้องมาป่าวประกาศว่า ตนเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย” หัวหน้าพรรคไทยภักดี ระบุ

                                                 ส่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองไทย


จริยธรรมอุดมการณ์ 


สำหรับ “มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง” ที่ถูกพูดถึงกันอยู่ขณะนี้ มีบัญญัติอยู่ใน  “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” 


โดยมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง โดยบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2561


สำหรับ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ระบุให้ 


+ ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


+ ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน


+ ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 


+ ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ 


+ ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้


จริยธรรมค่านิยมหลัก


ส่วนมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ได้แก่


+ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม


+ ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน  


+ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ


+ รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด


+ ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน


+ ไม่ให้คําปรึกษาแก่บุคคลภายนอก หรือแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลต่อสื่อสาธารณะ หรือสาธารณชนในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร


+ ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง


+ ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแล หรือความรับผิดชอบของตน เรียก รับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณี หรือจากบุคคลอื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน


+ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่  


+ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น 


+ ไม่นำความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงำให้ใช้ดุลพินิจ ในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด   


จริยธรรมทั่วไป


ส่วน “จริยธรรมทั่วไป” มีระบุเอาไว้ เช่น 


+ อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น 


+ ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้องโปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 


+ ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น


+ รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของราชการ


+ ปฏิบัติ กํากับดูแลหรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดําเนินการอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และระบบคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม


ขณะที่การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง