สตช.โชว์สร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วไทย74,463 คน

19 เม.ย. 2565 | 17:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2565 | 00:31 น.
528

สตช.โชว์ผลงานสร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วประเทศ รอบ 1 เดือน 74,463 คน เร่งรัดแก้ปัญหาความเดือดร้อนสำคัญเร่งด่วนเสร็จสิ้นแล้ว 631 เรื่อง

วันที่ 19 เมษายน 2565 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วยผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ และขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาล ที่ให้ทุกส่วนราชการ ร่วมกับภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชน สังคม และท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกมิติ นั้น  


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล 

โดยมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565  มอบหมายให้ตน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ชุมชน สังคมมีความสุขสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว”

                                         สตช.โชว์สร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วไทย74,463 คน
 พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เริ่มดำเนินโครงการแล้วในปี 2563 และ 2564 มีเครือข่ายประชาชนรวม 294,272 คน และในปี 2565 ได้อบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย จำนวนกว่า 9,000 นาย และได้คัดเลือกผู้นำท้องถิ่น ผู้นำตามธรรมชาติ ในแต่ละสถานีตำรวจเพื่ออบรมทำหน้าที่เป็นเครือข่ายประชาชน 1,483 สถานี สถานีละ 50 คน รวมจำนวน 74,463 คน 

จากนั้นได้ทำการอบรมให้ความรู้ เพื่อทำหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานเครือข่าย เพื่อสะท้อนความต้องการ ปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับชุมชุน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ประสานการปฏิบัติ ผ่านคณะกรรมการระดับ ตำบล อำเภอ และจังหวัด หากความต้องการและปัญหาใดเกินขีดความสามารถของจังหวัด ให้รายงานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรายงานให้รัฐบาลทราบต่อไป โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา

                                              สตช.โชว์สร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วไทย74,463 คน              
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ตนในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ พร้อมกับ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รองหัวหน้าคณะทำงานฯ ได้ประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ สถานีตำรวจ 1,483 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติประจำเดือน มีนาคม 2565 


โดยหน่วยได้รายงานปัญหาและความต้องการของประชาชน ใน 4 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 780 เรื่อง แบ่งเป็น ปัญหาที่หน่วยดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 631 เรื่อง ได้แก่


1.ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุข และสถานบริการ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ ฯลฯ จำนวน 469 เรื่อง 


2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การว่างงานและปัญหาหนี้สิน การขาดแคลน  ที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 22 เรื่อง 

                              สตช.โชว์สร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วไทย74,463 คน
3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 105 เรื่อง 


4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ จำนวน 35 เรื่อง
ปัญหาที่หน่วยอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข จำนวน 147 เรื่อง 

 

ปัญหาที่หน่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้และรายงานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 2 เรื่อง คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าว สับปะรดและผลไม้ ในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งจะได้รายงานไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป 

                                     สตช.โชว์สร้างเครือข่ายประชาชนป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลทั่วไทย74,463 คน
พล.ต.ท.ประจวบ ระบุว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่เพื่อประสานงานและรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและประชาชนให้มากขึ้น  

 

พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อสนองนโยบายรวมไทยสร้างชาติ และขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาลต่อไป