นิพนธ์ เกาะติดสถานการณ์ “พายุฤดูร้อน” กระทบทั่วประเทศ

19 เม.ย. 2565 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2565 | 00:31 น.

นิพนธ์ เกาะติดสถานการณ์ “พายุฤดูร้อน” กระทบทั่วประเทศ สั่งการปภ.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุฯ

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยถึงการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ซึ่งในช่วงวันที่ 16 -19 เม.ย 65  ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 21 จังหวัด  58 อำเภอ 137 ตำบล 405 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 3,241 หลัง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (เชียงรายและตาก) ผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย (ตาก)
 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

 

นายนิพนธ์ เปิดเผยต่อว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์พายุฤดูร้อนมาตลอด โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือมาเป็นระยะ และจากการติดตามเหตุการณ์หลายพื้นที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนทำให้บ้านเรือนกว่าหลายร้อยหลังคาเรือนเสียหายนั้น

 

ตนได้สั่งการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเรื่องสาธารณภัยดังกล่าว ให้เร่งการช่วยเหลือดูแลทันที โดยประสานงานกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัยจัดหาอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการกำลังของจนท. อาสาสมัครต่างๆเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนให้กลับคืนสภาพโดยเร็ว

 

พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เตรียมบุคลากร  เครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบทันต่อเหตุการณ์ และขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด

“ ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือน สื่อสารสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อสื่อสารและขอรับความช่วยเหลือจากทางราชการ  ทั้งนี้ประชาชนสามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง”  นายนิพนธ์กล่าว