ดร.มานะเหนื่อยใจหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. เน้นขายฝัน เมินแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

18 เม.ย. 2565 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2565 | 23:01 น.

“ดร.มานะ”ขอบ่นดังๆ เหนื่อยใจ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หาเสียง ส่วนใหญ่เน้นการขายฝัน มองข้ามปัญหาคอร์รัปชัน เปิดคอร์รัปชัน 4 ประเภท ที่คนกรุงต้องเผชิญ

วันที่ 18 เมษายน 2565 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol หัวข้อ “กทม.ไม่ปราบคอร์รัปชันแล้วจะพัฒนาได้อย่างไร?” โดยมีเนื้อหา ระบุว่า


 เหนื่อยใจที่เห็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. พูดแต่เรื่องความสุขสบายอยู่ดีกินดี ถึงวันนี้มีผู้สมัครฯ เพียงสองท่านที่เข้าใจปัญหา กล้าประกาศนโยบายว่า หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของมหานครแห่งนี้อย่างไร!!


คอร์รัปชันใน กทม. ไม่ต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป แต่หนักและซับซ้อนกว่าเพราะที่นี่มีงบประมาณมากถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผลประโยชน์จากการให้เอกชนเช่าที่ดิน - ทรัพย์สิน และให้สัมปทานจำนวนมาก 


ที่สำคัญยังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตอนุมัติหลายร้อยเรื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดคอร์รัปชันทั้งในส่วนกลางและสำนักงานเขต จากฝีมือของนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากตั้งแต่ระดับบริหารไล่ลงไปจนระดับปฏิบัติการ

สิ่งที่คน กทม.ต้องการ


ACT ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า วันนี้ กทม. จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดีโดยมืออาชีพ เพื่อให้เกิดการบริการ การดูแลและการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีคุณภาพ กล่าวคือ
ความปลอดภัย คือ ทางเท้าปลอดภัย สัญญาณไฟเพื่อข้ามถนนปลอดภัย มั่นใจเมื่อใช้บริการสถานที่สาธารณะจากอัคคีภัย โจรกรรม ปลอดภัยจากป้ายโฆษณาเถื่อนที่เกะกะ น่าอันตราย 


คุณภาพชีวิต คือ การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ดี สวนสาธารณะ โรงพยาบาลและการดูแลด้านอนามัยชุมชนและแหล่งบริการ ไฟแสงสว่างตามทางสาธารณะ แก้ปัญหาน้ำเน่า - น้ำท่วม


ความถูกต้อง สะดวกสบาย คือ เมื่อประชาชนไปใช้บริการ ต้องได้รับบริการโดยเท่าเทียมกัน สะดวกรวดเร็ว ไม่เรียกร้องสินบนเงินใต้โต๊ะ ไม่สร้างภาระ จนประชาชนเสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพ


แต่ในชีวิตจริง ชาว กทม. ยังต้องอดทนกับสภาพรถติด รถเมล์แย่ ทางเท้าพังและถูกรุกล้ำ ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ รถไฟฟ้าค่าโดยสารแพงและมีจำนวนน้อยในช่วงเร่งด่วน ประชาชนคนค้าขายถูกรีดไถ การพัฒนา กทม. ไปต่อไม่ได้ คุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนแย่ลง เพราะงบประมาณถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่าและสูญเสียไปจำนวนมากจากคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากใช้เวลาและศักยภาพของหน่วยงานไปกับการหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและส่งส่วยให้เจ้านาย

 

คอร์รัปชัน 4 ประเภท ที่คน กทม. ต้องเผชิญ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้


1.รีดไถประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ เช่น รีดไถค่าออกใบอนุญาตอนุมัติในการสร้างและต่อเติมบ้าน - อาคาร – ร้านค้า - อาคารพาณิชย์ - หมู่บ้านจัดสรร - คอนโด 


2.เรียกรับส่วยสินบนจากผู้ประกอบการแลกกับการทำผิดหรือจ่ายภาษีเข้ารัฐน้อยลง เช่น เรียกเงินใต้โต๊ะจากคนค้าขายแลกกับการจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่าเป็นจริง


3.โกงเงินหลวงในการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สิทธิ์ สัมปทานแก่เอกชน เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กรณีอุโมงค์ไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท กรณีอื้อฉาว เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า ค่าดูแลสวนสาธารณะ การจัดอีเว้นท์โดยส่วนกลางหรือสำนักงานเขต


4.ใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น กรณีปล่อยให้มีตลาดนัดเถื่อน เช่น กรณีป้าทุบรถที่เขตสวนหลวง คดีลักลอบทิ้งขยะที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม กรณีปล่อยให้เอกชนสร้างคอนโดหรูแต่เปิดใช้ไม่ได้ ที่ซอยอโศกและซอยร่วมฤดี


ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชันของ กทม. ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2564
1.หน่วยงานที่มีการจัดซื้อฯ มากที่สุด 3 อันดับ คือ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา สำนักงานเขตที่จัดซื้อฯ มากที่สุด 3 อันดับคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และ เขตมีนบุรี


 
2.มีการจัดซื้ออาหารเสริม นม อาหารเด็กนักเรียน 444 โครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ไม่รวมการจัดซื้อเองของโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 แห่ง

 

3.มีการลงทุนสร้างตลาดน้ำ 14 แห่งตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าหมดเงินไปเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้เห็นเพียงที่คลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เปิดดำเนินการอยู่

 

4.โครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี ที่ประกาศจะทำให้ทำให้น้ำคลองสะอาดและภูมิทัศน์สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนเหมือนในเกาหลี แต่ทำจริงกลับมีแค่การใช้งบจำนวนมากเพื่อปรับปรุงทางเท้าโดยรอบ ไม่ปรากฏว่าได้ทำอะไรให้น้ำคลองหายเหม็น

 

5.การปรับปรุงสวนลุมพินี พื้นที่ 360 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.7 พันล้านบาท งบราวครึ่งหนึ่งถูกใช้เป็นค่าสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคารจอดรถขนาดใหญ่ อีกครึ่งเป็นค่าต้นไม้และสวน

 

6.สำนักการโยธาฯ ซื้อยางมะตอยเพื่อซ่อมผิวถนนราวปีละ 170 – 190 ล้านบาท ข้อมูลจากระบบ ACT ai ชี้ว่าคู่สัญญาบางรายน่าจะเป็นเพียงนายหน้า เพราะขาดคุณสมบัติเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการด้านนี้ได้ เช่น ไม่มีโรงงาน ไม่มีสายการผลิตหรือแปรรูป โกดัง เครื่องจักรหนัก ฯลฯ

 

7.การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล 11 แห่งและศูนย์บริการสาธารณะสุข 69 แห่ง ของ กทม. มักจัดซื้อเป็นรายการย่อยที่มูลค่ารวมต่อครั้งไม่สูงมาก จึงน่าแปลกใจว่าทำไมไม่ซื้อคราวละหลายรายการเพื่อให้ได้ราคาถูก

 

8.มีการเช่ารถขนขยะแบบผูกขาดต่อเนื่องนับสิบปี จากเอกชนที่เป็นนักการเมืองใหญ่

 

9.มีการจัดซื้อเครื่องดนตรีราคาแพงมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แจกจ่ายไปตามโรงเรียนแต่ขาดครูดนตรีเฉพาะทาง หลังจากนั้นก็ขายออกเป็นของใช้แล้วในราคาถูกมาก เช่น เปียโน

 

10.สองเมกกะโปรเจคอื้อฉาว จากความไม่โปร่งใส ปิดกั้นการตรวจสอบจากภาคประชาชนตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ คือ โครงการลงทุนโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าที่อ่อนนุช มูลค่า 1,046 ล้านบาท และที่หนองแขม มูลค่า 6,712 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเผาขยะ) เพราะจงใจถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ในเดือนตุลาคม 2563


 
11.งบประมาณหลายพันล้านบาทในแต่ละปี ถูกใช้เป็นค่าทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำและสร้างโครงข่ายระบบระบายน้ำนับพันรายการ แต่คน กทม. ต้องทนอยู่กับน้ำเน่า น้ำท่วมตลอดมา แม้ช่วงการระบาดโควิด งบด้านนี้ก็ยังคงมีการใช้จ่ายจำนวนมากเช่นเดิม อนึ่ง การขุดลอกท่อระบายน้ำปัจจุบันเลิกจ้างกรมราชทัณฑ์และองค์การทหารผ่านศึกหันมาจ้างเอกชนทำแทน

 

12.โครงการอีกมากที่ตรวจสอบข้อมูลได้ยาก เช่น การจัดอีเว้นท์ในโอกาสต่างๆ, การจัดทำ/บูรณะ/ปรับปรุงป้ายรถเมล์, การจัดทำสัญญาณไฟเพื่อคนข้ามถนน มากกว่า 550 จุด แต่ปัจจุบันเหลือใช้งาน 266 จุด, โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดใช้งบมากกว่า 2,500 ล้านบาทใน 106 โครงการ, การซ่อมบำรุงรถและเรือดับเพลิง, การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราว 200 ล้านลิตรต่อปี, โครงการกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่แถลงในปี 2562 ว่ามีการลงทุน 120 ล้านบาทเพื่อสร้างหอฟอกอากาศและจัดซื้อรถพ่นละอองน้ำ 6 คันๆ ละ 8 - 9 ล้านบาท นอกนั้นไม่ปรากฏเป็นข่าว

 

13.ปัญหาธรรมาภิบาลของ “กรุงเทพธนาคม” บริษัทลูกของ กทม. เช่น รถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที ที่ขาดทุนสะสมราว 1.4 พันล้านบาทหรือกว่า 200 ล้านบาทต่อปี (2553 ถึง 2560), สัมปทานขุดท่อร้อยสายสัญญาณโทรคมนาคมลงใต้ดิน, การแต่งตั้งผู้บริหาร คณะกรรมการ เป็นต้น

 

ข้อสังเกต

 

จากการสำรวจ พบว่ามีวิธีการทำงานของ กทม. หลายอย่างที่ไม่โปร่งใส เปิดโอกาสให้เกิดคอร์รัปชันได้ง่าย เช่น

 

- ในหนึ่งโครงการ มีทั้งที่จัดซื้อโดยส่วนกลาง สำนักงานเขตและที่หน่วยงานเอง วิธีการใช้เงินก็แปลกคือ ใช้ทั้งงบประมาณประจำปีและงบกลาง ทำให้ไม่ปรากฏในแผนงานหรืองบประมาณประจำปีที่ต้องเสนอต่อ สภา กทม.

 

- การจัดซื้อจำนวนมากตรวจไม่พบในระบบ GF-MIS ของกรมบัญชีกลาง

 

- มีการบันทึกรายการจัดซื้อเป็นชื่อหน่วยงาน แทนที่จะเป็นชื่อโครงการและแสดงรายการที่จัดซื้อ

 

- การตั้ง “ชื่อโครงการ” ที่จัดซื้อมีความหลากหลายหรือตั้งแบบครอบจักรวาลแต่ขาดรายละเอียด เช่น “การปรับปรุงภูมิทัศน์” ทำให้ยากต่อการจัดหมวดหมู่และการตรวจสอบ

 

โดยสรุป

 

ในช่วงเวลาที่นักการเมืองกำลังประกาศนโยบายหาเสียง ผมขอเชิญชวนชาว กทม. นักวิชาการ และสื่อมวลชนให้ช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยว่า บรรดานโยบายที่เขาคุยว่า จะทำให้ “กทม. พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีคุณภาพ ปลอดภัยและสะดวกสบาย” จะเป็นจริงไปได้อย่างไร! หากไม่ชี้ว่าจะใช้วิธีใดปราบคอร์รัปชันที่ฉุดรั้งการพัฒนาและสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับคน กทม.


การเลือกตั้งในเมืองหลวงของประเทศ หากยังเน้นขายฝันเช่นวันนี้ก็อย่าหวังให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชันได้เลย...ขอบ่นดังๆ ว่าเหนื่อยใจครับ