'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' บทเรียนพรรคประชาธิปัตย์

16 เม.ย. 2565 | 15:51 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2565 | 22:56 น.
4.4 k

ข่าวอื้อฉาว 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' ลวงหญิง แรงกระแทกความเชื่อมั่น พรรคประชาธิปัตย์ ขณะ 'เทพไท' ขอสังคมแยกแยะ ระบุ กรณีนี้ จะบทเรียนของพรรคประชาธิปัตย์ในการคัดสรรผู้บริหารพรรค

16 เมษายน 2565 - จากกรณีที่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกข้อกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวหลายราย จนประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งภายในพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วในวันนี้ โดยยังคงปฎิเสธการกระทำที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งแม้กรณีดังกล่าว จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจมีผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์นับหลังจากนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ล่าสุด นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อ คดีความของ'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' ว่าเรื่องนี้ เป็นความผิดส่วนตัว และไม่อยากให้ไปเกี่ยวข้องกับพรรค แต่ก็มีคนบางกลุ่ม สื่อบางสำนัก ใช้สื่อโซเชียลปั่นกระแส พยายามพุ่งเป้าโจมตีทำลายพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพรรคเป็นอย่างยิ่ง

 

เพราะเมื่อนายปริญญ์ได้แสดงความรับผิดชอบต่อพรรค โดยการลาออกจากทุกตำแหน่งแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการกับนายปริญญ์ ในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ตามข้อบังคับพรรค ที่มีข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน

ส่วนตัวได้กล่าวขอบคุณที่นายปริญญ์ ที่ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบีบบังคับให้ลาออก ถือว่าเป็นการแสดงสปิริตเพื่อรักษาบรรทัดฐานของพรรคไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีความ หรือการละเมิดทางเพศหรือเกี่ยวกับจริยธรรมแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินคดี ก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด

 

สำหรับกรณีที่มีสื่อบางสำนัก เสนอข่าวเรื่องแชทหลุดว่า มีผู้บริหารพรรค และคนในพรรคประชาธิปัตย์ให้กำลังใจนายปริญญ์ในเรื่องนี้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในกลุ่มไลน์ของพรรค ยังไม่มี ส.ส.คนใดหรือกรรมการบริหารพรรคคนใด ให้กำลังใจหรือปกป้องนายปริญญ์เลย  มีแต่สนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเชื่อว่าคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเท่านั้น คือคำตอบสุดท้าย 

 

จากปรากฎการณ์ของนายปริญญ์ จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ในการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของพรรคให้มีความรอบคอบ รัดกุมให้มากกว่านี้ ในสมัยอดีตที่ผ่านมา บุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค จะต้องเป็นสมาชิกพรรค และทำงานกับพรรคเป็นเวลายาวนานพอสมควร ถ้าเป็น ส.ส.ของพรรค ก็จะเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย กว่าจะก้าวสู่การเป็นกรรมการบริหารพรรคได้

 

แต่การเข้าสู่ตำแหน่งภายในพรรคของนายปริญญ์ นับว่ากรณีพิเศษ ที่เป็นรองหัวหน้าพรรคโดยไม่ได้ผ่านการเป็น ส.ส.หรือผู้บริหารพรรค หรือในตำแหน่งอื่นในพรรคมาก่อน จึงทำให้ไม่สามารถพิสูจน์จุดยืน แนวความคิด หรือประวัติส่วนตัวได้อย่างชัดเจน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ย่อมกระทบต่อขวัญกำลังใจของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ