ทนายยก “ปารีณา ไกรคุปต์”ผลของผู้กล้าตายกลางสนามรบการเมืองไทย

07 เม.ย. 2565 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2565 | 20:25 น.

“ทิวา”ทนาย“ปารีณา ไกรคุปต์”ยอมรับผลคำพิพากษา ชี้ผลของผู้กล้า ตายกลางสนามรบการเมืองไทย เล็งศึกษาข้อกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้หรือไม่

ที่ศาลฎีกาฯ วันนี้ (7 เม.ย.65) นายทิวา การกระสัง ทนายความของ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.เขต 3 ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาคดีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง  ฟาร์มไก่รุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน ส.ป.ก. ว่า น.ส.ปารีณา ผิดจริยธรรมร้ายแรงในการครอบครองที่ดินป่าสงวน  จึงมีคำพิพากษาให้พ้นจากการเป็นส.ส.และเพิกถอนสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ว่า ตนยอมรับผลของคำพิพากษา แต่ยืนยันว่า น.ส.ปารีณา ไม่ได้บุกรุกที่ป่าสงวนตั้งแต่แรก แต่เป็นการรับที่ดินต่อจากบิดา 


โดยพื้นที่ดังกล่าวยอมรับว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก.610 ไร่ ในปี 2555    และศาลชี้ให้เห็นว่า น.ส.ปารีณาไม่ใช่คนจนและไม่ใช่บุคคลที่เป็นชาวไร่ในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การครอบครองที่ดินส.ป.ก.จำนวนมาก เป็นการทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน

แม้ น.ส.ปารีณา จะคืนที่ดินแล้วในปี  2562 ซึ่งตามหลักนางสาวปารีณาควรจะต้องมอบคืนเลย ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงถือว่ามีเจตนาที่จะครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.  ทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินในส่วนนี้ได้  ดังนั้น ศาลจึงพิจารณาว่าเข้าข่ายการผิดจริยธรรมร้ายแรง 

                                   ทิวา การกระสัง ทนายความของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์

การตัดสินวันนี้ ไม่สามารถทำให้ นางสาวปวีณา เป็นนักการเมืองได้และต้องพักผ่อนไปอีก 10 ปี ส่วนที่ระบุว่ามีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดไปนั้น ต้องดูว่าคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคุณสมบัติอะไร   เช่นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติการเลือกตั้ง และหากถูกตัดสิทธิ์ลงส.ส. ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ แต่ทั้งนี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ นางสาวปารีณา ก็มีโอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็ได้ไปพักผ่อนเช่นเดียวกับนายสิระ เจนจาคะ 

“อยากให้รู้ว่าที่ผ่านมา น.ส.ปารีณา โดนมาเยอะ นี่คือผลของผู้กล้า ที่ตายกลางสนามรบ เป็นเรื่องปกติ แต่วีรบุรุษไม่เคยตายกลางสนามรบ ซึ่งนี่คือการเมืองไทย” 

 

นายทิวา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากการฟังคำพิพากษาตนไม่ได้มีการพูดคุยกับ น.ส.ปารีณา แต่ทางด้าน น.ส.ปารีณา ได้เตรียมการทำฟาร์มไก่ใหม่  ส่วนเรื่องของคดีก็ต้องดูว่าตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะลองยื่นอุทธรณ์ดู ซึ่งในส่วนของคดีอาญาทางการเมืองทั่วไปสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ในกรณีผิดจริยธรรมเป็นการพิพากษาคดีแรก จึงต้องศึกษาดูข้อกฎหมายก่อนว่าจะใช้ระเบียบเดียวกันหรือไม่