"วิลาศ"ยื่นป.ป.ช.ฟันเลขาฯสภา-ผู้เกี่ยวข้องส่อทุจริตก่อสร้างอาคารรัฐสภา

02 มี.ค. 2565 | 17:53 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2565 | 01:02 น.

 “วิลาศ”ยื่นป.ป.ช.ฟัน “เลขาฯสภา” และผู้เกี่ยวข้องส่อทุจริต ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีจ้างเหมาช่วงบริษัทผู้รับเหมา และทำผิดสัญญาจ้างส่อเอื้อเอกชนจากโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาล่าช้า

วันนี้ (2 มี.ค.65) ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เกี่ยวข้อง 

 

กรณีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำสัญญาก่อสร้างเลขที่ 116/56 ลงวันที่ 30 เม.ย.56 วงเงินค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท ในสัญญาก่อสร้างฉบับดังกล่าวข้อ 11 เรื่องการจ้างช่วงมีข้อความว่า “ผู้รับจ้างต้องไม่เอางานทั้งหมดหรือบางส่วนแห่งสัญญานี้ไปจ้างช่วงอีกต่อหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างก่อน...” จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า ไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้ผู้รับเหมาช่วงแต่อย่างใด 

อีกทั้งตนเคยแถลงข่าวเรื่องผู้รับเหมาช่วงในโครงการดังกล่าวหลายครั้ง และล่าสุดได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 เพื่อให้ตรวจสอบกรณีผู้รับเหมาช่วง แต่ไม่ทราบผลการตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหนังสือดังกล่าวถือว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและผู้เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว 

                                   “วิลาศ”ยื่นป.ป.ช.ฟันส่อทุจริตก่อสร้างอาคารรัฐสภา

อีกทั้งมีหนังสือของผู้รับจ้างลงวันที่ 24 ก.ย. 63 เรื่องขอสงวนสิทธิ์ในการงดหรือลดค่าปรับตามสัญญา อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่อโควิด-19  ซึ่งตามเอกสารได้แนบจดหมายจากผู้รับเหมารายย่อย และ Supplier มีหนังสือผู้รับเหมารายย่อยแนบมาทั้งสิ้น 6 ราย และหนึ่งในบริษัทนั้น คือ หนังสือลงวันที่ 26 มี.ค.63 เป็นหนังสือของผู้รับเหมาช่วงรายหนึ่ง คือบริษัท Power Line ถึงผู้อำนวยการโครงการของบริษัทผู้รับจ้าง เรื่องขอสงวนสิทธิ์ขยายเวลาก่อสร้าง

จากการตรวจสอบภาพถ่ายพนักงานของผู้รับเหมาช่วงรายนี้ ซึ่งรับงานหลายประเภท และพูดคุยกับหัวหน้าคนงานในบริเวณก่อสร้าง รวมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมเชื่อว่า มีการทำสัญญาเฉพาะผู้รับจ้างรายนี้เกือบ 3,000 ล้านบาท 

 

อนึ่ง บริษัทที่ถูกอ้างว่าเป็นผุ้รับเหมารายย่อยรายนี้เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่เข้ายื่นซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างนี้ด้วย เห็นว่าน่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามพรบ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐอีกด้วย
จึงขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ตรวจสอบการจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการตรวจการจ้าง รวมทั้งบริษัทผู้ควบคุมงาน ATTA ซึ่งชี้แจงหลายครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างทั้งปฏิเสธว่าไม่มีผู้รับเหมาช่วงและปกป้องการกระทำความผิดในเรื่องผู้รับเหมาช่วง

 

นอกจากนี้ นายวิลาศ ยังได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการป.ป.ช.อีก 1 ฉบับ ขอให้ตรวจสอบการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและผู้เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 20 เรื่อง ค่าปรับและค่าเสียหายของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 

                          “วิลาศ”ยื่นป.ป.ช.ฟันส่อทุจริตก่อสร้างอาคารรัฐสภา
สัญญาก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ 8 มิ.ย.56 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 24 พ.ย.58 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน และมีการขยายสัญญาก่อสร้างไปแล้ว 4 ครั้ง รวมเฉพาะส่วนที่ขยาย 1,864 วัน และเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 จนถึงปัจจุบันใช้เวลาก่อสร้างไปแล้วรวมประมาณ 3,188 วันยังไม่แล้วเสร็จ โดยสัญญาข้อ 20 เรื่องค่าปรับและค่าเสียหาย ข้อความในวรรคสองระบุว่า 


“...ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ ในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานและบริษัทที่ปรึกษาอีกต่อหนึ่งเป็นจำนวนเงินวันละ 332,140 บาท....” 


เห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้างจะต้องติดตามเงินดังกล่าวหรืออาจหักจากการชำระเงินงวด เพราะทั้งผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการไม่ได้รับเงินค่าจ้างตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว อีกทั้งทราบว่ามีการทวงถามจาก 2 กลุ่มบริษัทดังกล่าวทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ทำให้การทำงานของกลุ่มบริษัทดังกล่าวอาจด้อยประสิทธิภาพ ส่งผลเสียต่อโครงการก่อสร้างซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ 


จึงขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบการกระทำส่อว่า เป็นความผิดดังกล่าวต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจการจ้าง เพื่อพิจารณาโทษตามกฎหมายต่อไป