วันที่ 28 ก.พ.2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กล่าวถึง ความคืบหน้าคดีที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลมูลไปแล้วและส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องคดีแต่อัยการเห็นแย้งว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายสั่งวันนี้ได้รับรายงานว่ามี 2 คดีที่คณะกรรมการร่วมสองฝ่ายมีมติแล้วและอัยการสูงสุดจะดำเนินการฟ้องคดีให้คือ
กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ใช้อำนาจโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในขณะนั้นเหตุเกิดปี 2554 ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ
คดีดังกล่าว ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเมื่อปี 2563 เห็นว่าการกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
นายนิวัติไชย กล่าวว่า อีกคดีที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) กรณีการระบายข้าวจำนวน 3 แสนตัน ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 30,000 ตัน ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีข้าวบูล็อค ซึ่งป.ป.ช.เห็นว่าการกระทำของนายกิตติรัตน์เข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า อีกประมาณ 10 ราย ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายอื่น
คดีดังกล่าวมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) ตามสัญญา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 300,000 ตัน เมื่อเดือน ธ.ค. 54โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งที่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในลักษณะนอมินีของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ถูกศาลล้มละลายพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ล.18747/2552 รวมทั้งเคยเป็นคู่สัญญาการค้าขายข้าวกับรัฐบาลในโครงการ รับจำนำข้าวเปลือกปี 2544/2545 และปี 2546/2547 จำนวน 1.9 ล้านตัน และไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ตามสัญญา ผลประโยชน์ที่รัฐควรได้จึงตกไปเป็นของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวกพ้องที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์แก่กันและกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน