“นิคมฯราชทัณฑ์” สร้างงาน-ให้โอกาส ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด 

16 ก.พ. 2565 | 16:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 23:17 น.
890

ไปดูกันว่า “นิคมฯราชทัณฑ์” ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้โอกาส สร้างชีวิตใหม่ ให้กับผู้ที่เคยก้าวพลาดอย่างไร 

“ ก่อนเข้าร่วมโครงการนิคมฯราชทัณฑ์ ช่วงแรกที่ต้องเตรียมตัวกังวลมากว่าเราจะทำงานที่นี่ได้หรือไม่  ในสภาพของผู้ต้องขัง เราไม่รู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานจะรับเราได้มากน้อยแค่ไหน  กลัวถูกตีตราว่าป็นคนขี้คุก  มันเกิดเป็นแรงกดดันและความเครียด   แต่เมื่อได้มาทำงานจริงๆ ทุกอย่างที่เราพบเห็น สัมผัสได้ว่าพี่ๆเพื่อนๆ ทุกคนที่นี่พร้อมจะต้อนรับและยินดีให้เราก้าวมาอยู่ในสังคมอีกครั้งจริงๆ ….”

ต้อม” (นามสมมุติ) หญิงสาวที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด

“ในเรือนจำยังมีผู้ต้องขังบางกลุ่มที่รู้สึกกลัว  กับการได้รับอิสรภาพ  เพราะเราอยู่ในเรือนจำมานาน  ทำให้ไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเพราะกลัวปรับตัวไม่ได้   จริงๆอยากให้ทุกคนเปลี่ยนความกลัวให้เป็นพลังที่จะกล้าก้าวข้าม   ในเมื่อสังคมให้โอกาสออก  อยากให้รักษาโอกาสตรงนี้ไว้เพื่อพิสุจน์ตัวเองว่าเราก็เป็นคนดีของสังคมได้”

 

“ต้อม” (นามสมมุติ) หญิงสาวที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด เปิดใจ เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อปี 58 จุดเริ่มต้นให้เธอก้าวเข้าสู่วงการยาเสพติดความผิดครั้งแรกในชีวิต เพียงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความอยากได้ อยากมีเงินเลี้ยงดูครอบครัว  ทำให้เธอตัดสินใจเลือกเส้นทางค้ายาร่วมกับแฟนเก่าที่เลิกรากันไป ก่อนจะถูกแฟนเก่าซักทอด จนถูกหมายศาลตัดสินโทษจำคุก 15 ปี 

ต้อม” (นามสมมุติ) หญิงสาวที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด

“ไม่คิดว่าตัวเองจะมีจุดจบแบบนี้   ตอนถูกตำรวจจับในหัวเราคิดถึงแต่ครอบครัว  คิดถึงลูกสาว  เขาจะอยู่กันยังไง เป็นห่วงและอยากเจอครอบครัวมาก”

 

“ต้อม” ยอมรับว่า ชีวิตหลังกำแพงสูงในเรือนจำไม่ได้สวยงาม  ต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ มีคนเยอะๆการใช้ชีวิตในแต่ละวันต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบ คิดถึงครอบครัวก็สื่อสารผ่านการเขียนจดหมาย หรือรอญาติมาเยี่ยมตามวันที่เรือนจำกำหนดเท่านั้น  ปัจจุบันเหลือโทษอีกเพียง 1 ปี 6 เดือนก็ได้จะได้รับอิสระภาพที่รอคอย    “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เป็นโครงการที่เหมือนให้ชีวิตใหม่กับผู้ก้าวพลาดและต้อมอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้ออกมาใช้ชีวิตนอกกำแพงแล้ว ยังมีงานทำ  มีรายได้ส่งเสียครอบครัว  รวมถึงได้กลับบ้านเจอพ่อแม่และลูกสาว   

ต้อม” (นามสมมุติ) หญิงสาวที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด

“พี่ได้กลับบ้านทุกวันหยุด  ความรู้สึกที่พี่ได้ออกมาทำงานมันเปลี่ยนไป เหมือนเราได้ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป   เช้าตื่นมาทำงาน  เย็นเลิกงานก็กลับที่พัก  ได้พูดคุยกับครอบครัวโทรหาลูก  อยากจะไปไหนเราก็ได้ไป  แต่เราต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข EM  ที่กรมควบคุมความประพฤติกำหนด” 

จาก “ผู้ก้าวพลาด” สู่อาชีพ  “แม่บ้านโรงแรม”  ต้อม เล่าว่า  ไม่มีความถนัดในอาชีพแม่บ้านมาก่อน  แต่เมื่อได้รับโอกาสจากผู้ประกอบการ จากสังคม   เธอก็สัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจเรียนรู้ และทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด   ทำงาน 6วันต่อสัปดาห์  เข้างานตั้งแต่ 7โมงเช้าถึง 4โมงเย็น  หน้าที่แต่ละวันปูที่นอน ทำความสะอาดห้องพัก  ที่โชคดีคือมิตรภาพจากเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือ ฝึกสอน ให้เธอรู้สึกถึงการยอมรับจากสังคมจริงๆ   การเปิดใจจะค่อยๆ ลดกำแพงความรู้สึกของตัวเอง ที่กลัวว่าจะถูกมองเป็นคนไม่ดี  ไม่สมควรให้โอกาส  แต่เมื่อเราได้รับโอกาส เราก็ต้องรักษาโอกาสนั้นให้ดีที่สุด ด้วยการหันหลังให้กับสิ่งไม่ดี ตั้งใจทำงานด้วยความสุจริต  

 

“ ขอบคุณกรมราชทัณฑ์  ที่โครงการนี้ทำให้ต้อมและเพื่อนอีกหลายคนได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปอีกครั้ง  มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยที่เราไม่ต้องหวนไปกระทำความผิดอีก  อยากให้โครงการนี้ขยายไปทุกเรือนจำ  เพราะยังมีเพื่อนๆอีกจนวนมากต่างก็รอโอกาสเหมือนต้อม   
.... หลังพ้นกำแพงเรือนจำ  ตั้งใจจะทำงานสุตจริตหาเลี้ยงครอบครัวและไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  อยากฝากเพื่อนๆทุกคน ที่คิดจะทำผิด ต้อมว่าอย่าทำเพราะข้างในไม่ได้น่าอยู่อย่างที่คิด .... ”


“ ที่ผ่านมาเจอเพื่อนนักโทษกระทำผิดซ้ำ กลับเข้าเรือนจำมากกว่า 9-10 ครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด  เขาบอกว่าออกไปข้างนอกแล้วไม่มีงานทำ หางานยาก  ไม่มีรายได้เลยเลือกกลับเข้าไปวงจรยาเสพติด...”  หนึ่งในเสียงสะท้อนของผู้ก้าวพลาด  เธอบอกว่ามันเหมือนชีวิตเราไม่มีค่า ถึงแม้เราจะออกจากเรือนจำแล้ว แต่ก็เหมือนสังคมยังตีตราว่าเราเป็นคนไม่ดีอยู่  จากที่ต้องต่อสู้กับคนในคุก พอออกสู่สังคมก็ต้องมาต่อสู้กับสายตาของคนข้างนอกว่าจะมองเราเป็นแบบไหน  จะมีคนรับเราเข้าทำงานไหม

“เฟิร์น” (นามสมมุติ)  หญิงสาวผู้เคยก้าวพลาดจากคดียาเสพติด

“เฟิร์น” (นามสมมุติ)  หญิงสาวผู้เคยก้าวพลาดจากคดียาเสพติด ยอมรับว่า เพื่อนส่วนใหญ่ในเรือนจำกลัวการออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เหตุผลหลักของผู้ที่ไม่กล้าเข้าร่วมโครงการนิคมฯราชทัณฑ์   เพราะนอกจากต้องเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ๆแล้ว   ต้องเจอสังคมที่ไม่เคยเจอ   เฟิร์นอยากบอกว่าอย่าสร้างกำแพงที่ยิ่งปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม  เพราะสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ลองเปิดใจ  ให้โอกาสตัวเองก้าวออกมา แล้วจะไม่เสียใจที่เลือกออกมาใช้ชีวิตข้างนอก  ได้เจอครอบครัวได้ทำงานและเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง

 

ช่วงวัย 27 ปี เป็นวัยของการทำงานสร้างอนาคต  แต่เฟิร์นกลับหลงผิด ด้วยการเลือกเส้นทางค้ายาเสพติด  แม้จะเป็นความผิดครั้งแรกแต่ก็มีโทษจำคุกนานถึง 25ปี  เธอยอมรับว่าเสียดายช่วงเวลาชีวิตที่หายไปเพียงเพราะความคิดชั่ววูบที่ต้องการมีเงินใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  “การใช้ชีวิตอยู่ข้างในมา 7 ปี อยากเห็นบรรยากาศข้างนอกมากแต่มันถูกปิดกั้นด้วยเป็นกำแพงสูง  ขนาดหมาเรายังไม่เคยเห็นเลย ...”  ประสบการณ์ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำ แตกต่างจากชีวิตข้างนอก  จากที่เคยเอาแต่ใจ ไม่สนใจใคร  กลับต้องฝึกต้องอดทน  ปรับความประพฤติให้อยู่ภายใต้กฏระเบียบเพื่อให้อยู่สังคมข้างในได้  

 

ปัจจุบันเหลือโทษอีกปีกว่า  เฟิร์นตัดสินใจสมัครเข้าโครงการนิคมฯราชทัณฑ์อย่างไม่ลังเล เพราะ “โอกาส” เป็นเหมือนรางวัลชีวิต ของผู้เคยก้าวพลาด  การได้ทำงานทำให้เรามีคุณค่า  เป็นความภาคภูมิใจที่เห็นรายได้จากการทำงานสามารถเลี้ยงดูครอบครัวของเราได้    ก่อนหน้านี้เคยกังวลว่าหากเราต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอก โดยไม่ผ่านโครงการ เราจะเริ่มต้นตรงไหน จะมีใครรับเราทำงานหรือไม่ ครอบครัวคือ กำลังใจสำคัญที่ทำให้เรากลับมาสู้อีกครั้ง 

 

“ทำงานแรกๆ รู้สึกเครียดมาก เพราะเราเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ยังต้องใส่กำไรEM   กลัวสายตาคนอื่นที่มองว่าเราแตกต่าง    แต่เราใส่กางเกงขายาวซึ่งทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่เราคิดไปเอง  ไหนจะเรื่องการทำงานที่เราไม่เคยเจอ สังคมที่ทำงาน คนรอบข้าง เราต้องอดทน แต่พอได้ทำงานจริงๆมันก็โอเค  ใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างเยอะ   โชคดีที่เราเจอสังคมที่ทำงานดี  เพื่อนๆทุกคนดีกับเรามาก  เวลามีกิจกรรมบริษัท เขาก็เปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมด้วยเพราะเราเป็นหนึ่งในพนักงานของเขาเหมือนกัน  …..”

“เฟิร์น” (นามสมมุติ)  หญิงสาวผู้เคยก้าวพลาดจากคดียาเสพติด

ก่อนทำงาน กรมราชทัณฑ์จะมีการอบรมทั้งทักษะการทำงานและทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ต้องปรับตัวอย่างไร  มีการเตรียมพร้อมก่อนออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อให้เราอยู่ในสังคมให้ได้   งานที่เฟิร์นทำ คือแผนกธุรการของบริษัท  ดูแลเอกสารทั้งหมด  ยอกรับว่ากังวลเพราะเราไม่เคยทำงานระบบออฟิตมาก่อน  แต่โชคดีมีพี่ๆเพื่อนๆที่นี่เข้าใจ  และพร้อมสอนการทำงานทุกอย่าง จนขณะนี้เข้าเดือนที่4แล้ว  รายได้วันละ 350 บาท ภูมิใจที่ความเหน็ดเหนื่อยของเรา สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข พอเลิกงานได้กลับบ้านไปหาพ่อแม่คนที่เรารัก 

 

 “ก้าวแรกที่กลับเข้าบ้าน รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด  หาบ้านไม่เจอเพราะถนนเส้นทางเปลี่ยน  บ้านยังอบอุ่นเหมือนเดิม พ่อ แม่ ลูก ทุกคนดีใจที่เราได้กลับมาบ้าน   บอกเลยว่าครอบครัวสำคัญมาก เป็นกำลังใจเดียวที่เรามี ผลักดันให้เรามีแรงก้าวใช้ชีวิตต่อไป  เพราะจริงๆแล้วคนรอบข้างจะมองยังไงมันก็ไม่สำคัญ เท่ากับคนในครอบครัวมองเราคะ...”

 

ยังมีมีคนจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ในคุกโดยที่เขาไม่ได้กระทำความผิดจริง ๆ  และผู้ที่ทำความผิดจริง เขาเหล่านั้นต่างต้องการปรับตัวกลับสู่สังคมเช่นกัน  เฟิร์น ยอมรับว่า ไม่แปลกที่สังคมบ้านเราจะมองและตัดสินคนจากภายนอก  โดยเฉพาะ “รอยสัก” แต่จริงๆอยากให้ปรับทัศนคติและเปิดใจว่ามันเป็นความชอบส่วนตัวที่ไม่มีผลต่อการทำงานมองเรื่องความสามารถเป็นหลัก   บางทีคนเราผิดพลาดกันได้  แต่ผิดพลาดแล้วก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่  เรียนรู้สิงใหม่ๆได้  อยากให้มองพวกเราใหม่ ให้โอกาสเรา  เราอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดก็ได้  

 

“อยากขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำให้เกิดโครงการนี้   ขอบคุณบริษัทไต้ทง  ที่ให้โอกาสผู้ต้องขังอย่างพวกเรา ได้ออกมาใช้ชีวิต มีงานทำที่ดี   เพราะหากเราพ้นโทษออกมาหางานทำเอง   สังคมยังไม่ค่อยเปิดใจรับเราเท่าไหร่ โครงการนี้ช่วยให้ผู้ต้องขังไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่   เราดีใจและภูมิใจที่เป็นหนึ่งที่ได้เข้าร่วมคะ...”

 

จากสถิติภายใน3ปี เรามีการอภัยโทษให้นักโทษ กว่า 3 หมื่นคน มีผู้กระทำผิดซ้ำ 30% นั่นเท่ากับว่าในจำนวน 100 คน เราจะมี 30 คนกลับเข้ามาเรือนจำอีกครั้ง ขณะเดียวกันสังคมไทยบอกว่า เราให้โอกาสผู้ที่พ้นโทษแล้ว แต่ในทางปฎิบัติ  ทำไมเราถึงยังหวาดกลัวผู้พ้นโทษอยู่     โดยโทษของผู้กระทำผิดซ้ำจะถูกจองจำนานขึ้น มันยิ่งทำให้เกิดความแออัดต้นเหตุปัญหานักโทษล้นเรือนจำ  

“นิคมฯราชทัณฑ์” สร้างงาน-ให้โอกาส ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด 

ดังนั้นผมมองว่านโยบายนำร่องสร้าง  “นิมคมฯราชทัณฑ์”จะช่วยลดจำนวนตรงนี้ลงได้  ยุทธนา นาคเรืองศรี ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรปราการ  ยอมรับว่า การสร้างให้เขาเป็นแรงงาน  จำทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน  ลดการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19    ที่สำคัญคือทุกคนมีความสุข   ผลที่ตามมาคือความแออัดของ  คุณภาพชีวิตจะกลับมาสู่น้องๆผู้ต้องขัง  หากเราเอาผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นด้วยความแออัด  ความเครียด มูลค่าไม่เกิด ดังนั้นนโยบายนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 

 

“ ผมเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาเพื่ออิสรภาพ   เพราะฉะนั้นให้เขาได้ออกจากเรือนจำ เขาก็มีความสุขแล้ว  การอยู่ภายใต้หลังกำแพง กฏเกณฑ์  เงื่อนไขข้อผูกมัดต่างๆ  ไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขของเขา  แต่เมื่อเขาได้อกไป เขามีรายได้ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเขาสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมโดยที่เขาไม่รู้ตัวก็ได้”

 

เรือนจำกลางสมุทรปราการ รองรับผู้ต้องขังกำหนดโทษ 25-30 ปี จำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการควบคุมตั้งแต่ชัยนาทจนถึงสมุทรปราการประมาณ 16แห่ง  ปี 2564 มีผู้ต้องขังประมาณ  6400 คน  สวนทางกับกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 155 คน แต่เจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมมีเพียง 60 %  เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่1คนต้องดูแลผู้ต้องขังถึง 400กว่าคน  

“นิคมฯราชทัณฑ์” สร้างงาน-ให้โอกาส ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด 

ผมถึงบอกว่ามันเป็นความยากและท้าทาย  เราไม่ได้เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง  หรือคืนคนดีสู่สังคมอย่างเดียว แต่เรากำลังเปลี่ยนผู้ต้องขังให้เป็นทุนในการพัฒนาประเทศ  เพราะแต่ละคนหากเรามองในมูลค่าทางเศรษฐกิจ  หากเรามองมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยเขามี 340 บาท ในจังหวัดสมุทรปราการ เราขังไว้6400 กว่าคน   วันหนึ่งเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันมันไม่ใช่สร้างมูลค่านะครับเป็นทุนของการพัฒนาประเทศ อย่างเดียว  มันยังลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้อง เสียวันละ 50 กว่าบาท ลดลงไปอีก  มันเหมือนลดเพื่อเพิ่ม  นั่นคือลดภาระภาครัฐแต่เพิ่มมูลค่าในการเป็นทุนพัฒนาประเทศ

 

“ สิ่งสำคัญคือเวลาน้องๆ ออกไป  ครอบครัวเขาก็มาขอบคุณเราและกลับมาหาเรา  มันเป็นความสุข เป็นทุนที่มองไม่เห็น  แต่ในทางตรงข้ามหากเราไม่ให้โอกาสเขาทำงาน  หากเขาออกไปขายยาวันละ10 เม็ด มันก็จะยิ่งไปเพิ่มคนติดยาอีก10 คน...”

“นิคมฯราชทัณฑ์” สร้างงาน-ให้โอกาส ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด 

หากสังคมไม่ให้โอกาส คนเคยกระทำผิด และต้องโทษ ยังไงก็ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะการไม่มีรายได้ ก็เหมือนเป็นโดนบังคับไปในตัว  ที่ผ่านมามีน้องๆ เรือนจำกลางสมุทรปราการ เข้าร่วมโครงการนิคมฯราชทัณฑ์ทั้งหมด ประมาณ 258 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ  178 คน  

 

หน้าที่ของเรือนจำ คือต้องกระตือรือร้นในการเพิ่มเติมทักษะการทำงาน ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในการทำงานให้มากขึ้น  จะทำยังไงให้น้องๆอยู่ในตลาดแรงงานนี้ให้ได้  นี่คือทุนมนุษย์ที่ถูกสร้างไว้หลังกำแพง  พอกำแพงมันมีช่องว่าง เขาออกมาได้ เขาก็สร้างมูลค่าให้กับสังคมได้  ก็เหมือนพวกเราทุกคนหากเราให้โอกาสเขาเราก็เหนื่อยน้อยลง สังคมปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

“นิคมฯราชทัณฑ์” สร้างงาน-ให้โอกาส ชีวิตใหม่ผู้ก้าวพลาด 

“ วันใดก็ตามที่เรารู้ว่าตัวเองทำผิด สำนึกในการกระทำความผิด และสัญญาว่าจะไม่ทำอีก คุณคือคนๆหนึ่งในสังคม ที่ควรได้รับการยอมรับ  ไม่ว่าคุณจะติดคุกมามากแค่ไหน  แต่หากคุณรู้ว่าสิ่งที่คุณทำมันผิด คุณสำนึกในการกระทำความผิด จะไม่ไปกระทำความผิดอีก  ผมถือว่าคุณคือคนที่เท่าเทียมกับผม  คนที่จะอยู่ร่วมกับสังคม แล้วทำให้สังคมสงบสุขได้ ”