นายกฯเชื่อลดค่าโอนบ้าน-คอนโด ดึงเม็ดเงินเข้าระบบ ช่วยจ้างงาน 2.8 ล้านคน

21 ม.ค. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 18:04 น.

“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายกฯ”เชื่อมาตรการกระตุ้นศก.ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอน-จำนองอสังหาฯ เร่ง ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้ประชาชน เชื่อดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ ช่วยจ้างงานกว่า 2.8 ล้านคน

วันที่ 21 ม.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนและบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชน โดยการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชน ช่วยสร้างโอกาสและหลักประกันความมั่นคงในที่อยู่อาศัย


นายธนกร กล่าวว่า โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้มีการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นายกฯเชื่อลดค่าโอนบ้าน-คอนโด ดึงเม็ดเงินเข้าระบบ ช่วยจ้างงาน 2.8 ล้านคน

 

นายธนกร กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยคาดว่าการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน 
 

โดยนายกฯ สั่งการอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดมาตรการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระแก่พี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเป็นการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ จนสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สร้างประโยชน์แก่สาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ