"เลขาฯสมช."มุ่งเป้า การเมืองนำทหาร เชื่อปี 70ไฟใต้ดีขึน

30 ธ.ค. 2564 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 17:06 น.

“เลขาฯ สมช.” มุ่งเป้าทำการเมืองนำทหารแก้ชายแดนใต้ มองทิศทางตั้งเป้าปี 70 ดับไฟเป็นไปในทิศทางที่ดี พร้อมเดินหน้าคณะผู้แทนพิเศษวางนโยบายควบคู่คณะพูดคุยมาลาปาตานี

วันที่ 30 ธ.ค. 64  พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวถึงการทำงานของสมช. ว่า งานของสมช. เป็นระบบการประชาสัมพันธ์ที่รับผิดชอบ เมื่อมารับผิดชอบเรื่องศบค. ซึ่งการประชุม

 

ศปก.ศบค.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ แต่วันอังคาร พฤหัสบดีและเสาร์อาทิตย์ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านระบบออนไลน์ นอกเหนือจากนั้นสมช.ยังคงทำงานปกติรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในทุกมิติ ภัยคุกคามสำคัญ สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช.

 

พล.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในปีหน้าปัจจุบันยังต้องมีการจับตาความรุนแรงในประเทศเมียนมาที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยในปีหน้าด้านความมั่นคงไม่มีอะไรต้องจับตาเป็นพิเศษ เพียงแต่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งการพัฒนาและความชัดเจนในการใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งมียุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวชี้วัดเป้าหมายประเมิน โดยในปี 2565 พยายามขับเคลื่อนให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

 

เมื่อถามว่า ที่ได้วางเป้าให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หมดไปในปี 2570 มองว่ายังคงเป็นไปได้หรือไม่นั้น พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ลดลงไปตามเป้า และปีนี้ในปีนี้ไตรมาสแรกสถานการณ์ก็ลดน้อยลง เหตุการณ์ความรุนแรงลดน้อยลงจำนวนมาก พร้อมกับติดตามการทำงานของ  ศ.อบต.ที่ดูแลเรื่องการพัฒนา และกอ.รมน.ภาค 4 ที่ทำงานทั้งการป้องการการก่อเหตุร้ายและพัฒนา ก็มองว่าไปได้ดีในการขับเคลื่อน

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สำหรับการตั้งคณะผู้แทนพิเศษนั้น ยังคงมีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลแทนรัฐบาลในระดับนโยบายที่เข้าไปขับเคลื่อนในมิติของความมั่นคงและการพัฒนา โดยหากดูจากรายชื่อจะมีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถที่จะลงไปช่วยรัฐบาล และมห้ข้อเสนอแนะให้คำแนะนำ ทั้งกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศ.อบต. และผู้แทนพูดคุย และยืนยันว่าคณะพูดคุยมาลาปาตานีจะยังเดินหน้าต่อ แม้ว่าอาจเห็นภาพข่าวกลุ่มต่างๆ พยายามออกมาแสดงความคิดเห็นคณะพูดคุยก็พยายามเจรจาทุกฝ่ายเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ ขณะที่ทางการมาเลเซียยังคงให้ความร่วมมือและประสานมาอย่างต่อเนื่องในฐานะที่ปรึกษาพิเศษ ในการอำนวยความสะดวกในการเจรจา และขณะนี้เองก็ยังสามารถให้การขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง