นายกฯยินดี Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย

22 ธ.ค. 2564 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 17:46 น.

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีที่ Fitch Ratings (Fitch) เชื่อมั่นคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

วันที่ 22 ธ.ค.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลและรู้สึกยินดีที่บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ซึ่งเปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

 

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าผลจากคงอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว สะท้อนความเชื่อมั่นของความเข้มแข็งด้านนโยบายการเงินการคลังที่รอบคอบของรัฐบาล และ ขอบคุณที่ Fitch เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็งเห็นผลอย่างชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับ

นายกฯยินดี  Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย

 

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า Fitch ยังคาดการณ์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2565 ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น โดย Fitch คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เพราะมองว่ารัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินการคลัง การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเพิ่มเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อการลงทุนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม สำหรับภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ของไทย Fitch ยังคงมองว่ามีความแข็งแกร่ง และคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 0.8 ต่อ GDP และร้อยละ 3.5 ต่อ GDP ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ หลังจากขาดดุลที่ร้อยละ 2 ในปี 2564

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานของ Fitch สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ การกู้เงินก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และมีการดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19