“ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ”เฮ! พ้นบ่วงล้มละลายหลังครบ 3 ปี

21 ธ.ค. 2564 | 20:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 03:45 น.
3.9 k

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ “ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ” สถาปนิกชื่อดัง พ้นบุคคลล้มละลาย นับแต่ 2 ต.ค.2564 หลังครบ 3 ปี จากการเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่ 1 ต.ค.2561

 

วันนี้(21 ธ.ค.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง ปลดจําเลยจากล้มละลาย คดีหมายเลขแดงที่ ล. 779/2558 ศาลล้มละลายกลาง กองบังคับคดีล้มละลาย 4 กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

 

ขอแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า ตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ว่าศาลล้มละลายกลางได้พิพากษาให้ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ จําเลย เลขประจําตัวประชาชน 3-1010-02503-37-7 เป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 นั้น  

บัดนี้ ครบกําหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้จําเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงปลดให้ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ผู้ล้มละลาย จากการเป็นบุคคลล้มละลาย นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2564

 

ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

ธีรพงศ์ คงขาว 

 

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

                           “ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ”เฮ! พ้นบ่วงล้มละลายหลังครบ 3 ปี

สำหรับ ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เกิดเมื่อ 12 พฤษภาคม 2482 ปัจจุบันอายุ 82 ปี  เป็นสถาปนิกชาวไทย อดีตอาจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย เป็นที่รู้จักในฐานะสถาปนิกผู้นำสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน เข้ามาใช้งานออกแบบร่วมกับอาคารสมัยใหม่ ทั้งองค์ประกอบของโดม ช่องหน้าต่างโค้ง ซุ้มประตูโค้ง  

 

ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มีผลงานที่เป็นรู้จักกันดีโดยเฉพาะอาคารสเตท ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเลอบัว มีจุดเด่นจากโดมสีทองขนาดใหญ่ อาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ อาคารที่ใช้แบบคล้ายคลึงกับสเตททาวเวอร์แต่สร้างไม่สำเร็จ ปัจจุบันกลายเป็นอาคารร้างที่สูงที่สุดในไทย 

 

สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ที่ ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ก็เป็นผู้ออกแบบและวิจัยโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เป็นต้น 

 

ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ยังมีผลงานออกแบบที่อยู่อาศัยมากกว่าร้อยแห่ง และที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือผลงานออกแบบอาคารสาขาธนาคารกสิกรไทยมากกว่าร้อยแห่ง ที่มีจุดเด่นคือ เสาชะลูด และโค้งมนตอนยอด ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่สำคัญของธนาคารในปัจจุบัน

 

ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เริ่มงานออกแบบตั้งแต่เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 โดยได้เข้าฝึกงานกับ ศ.กิตติคุณ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (สมัยที่ยังไม่เป็นบริษัทคาซ่าในปัจจุบัน) 

 

ภายหลังสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการสังกัดกรมโยธาธิการ ก่อนจะไปฝึกงานด้านสถาปัตยกรรมที่เมืองดีทรอยต์ แล้วจึงเลือกศึกษาต่อยังสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ก่อนจะกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปิดสำนักงานออกแบบควบคู่กับเป็นการบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนาม รังสรรค์แอนด์พรรษิษฐ์สถาปัตย์ จำกัด (ปัจจุบันชื่อเปลี่ยนเป็น รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด) 

 

แม้ว่าผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาส่วนใหญ่จะเป็นแนวโพสต์โมเดิร์นแบบอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคคลาสสิก แต่งานในช่วงแรกของเขามีความเป็นโมเดิร์นอย่างแท้จริง ทั้งการใช้คอนกรีตเปลือย การลดทอนรายละเอียดของการตกแต่ง เช่น โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงงานมาสด้า บริษัทกมลสุโกศล โรงงานยาสูบ คลองเตย ศูนย์กีฬาในร่ม หัวหมาก บ้าน ดร.ยงค์ เอื้อวัฒนะสกุล เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ยังมีอาคารสูงเช่น ตึกโชคชัย ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ที่นำกระจกสะท้อน เข้ามาใช้ในงานออกแบบครั้งแรก ๆ ในประเทศไทย
 

 

ทั้งนี้ ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีลอบสังหารประธานศาลฎีกา โดยเป็นกรณีที่ตำรวจกองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. (ยศในขณะนั้น) ได้ทำการจับกุมมือปืนที่วางแผนลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น จนมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอีกหลายคน

 

กระทั่งไปสู่จับกุมผู้จ้างวานได้ในที่สุด ซึ่งต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุก 25 ปี จำเลยอันประกอบด้วยนายสมพร เดชานุภาพ, นายเณร มหาวิไล, นายอภิชิต อังศุธรางกูล และ รศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 1–4 ตามลำดับ โดย ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าถูกใส่ร้าย จนในที่สุดศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ยกฟ้อง นับเป็นการต่อสู้ทางคดียาวนานถึง 15 ปี

 

*ขอบคุณข้อมูลประวัติจากวิกิพีเดีย