เปิดละเอียดคำวินิจฉัย“ศาลรธน.”มติเอกฉันท์สั่ง 5 แกนนำกปปส.พ้น ส.ส.

08 ธ.ค. 2564 | 17:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2564 | 00:56 น.
3.6 k

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. มติเอกฉันท์ สั่ง “5 แกนนำกปปส.” พ้นสภาพส.ส. ชี้ปมถูกเพิกถอนสิทธิ-คุมขังระหว่างอุทธรณ์แม้คดียังไม่ถึงที่สุด รธน.กำหนดชัดเป็นเหตุให้หลุดตำแหน่ง แจงศาลรับรองการชุมนุมเป็นเสรีภาพ แต่ไม่รับรองการทำผิดทางอาญา

วันนี้ (8 ธ.ค.64 ) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ.ส.ส.ของนายชุมพล จุลใส สส.เขต 1 จ.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์  นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปปัตย์  นายถาวร เสนเนียม ส.ส.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลง

 

จากกรณีศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาที โดยศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา และขังผู้ถูกร้องทั้ง  5ที่เรือนนำจำพิเศษกรุงเทพ แม้ต่อมาผู้ถูกร้องทั้ง 5 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งการรับฟังคำวินิจฉัยวันนี้มีเพียงนายพุทธิพงษ์ และนายถาวร ที่เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างการพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 มีพระบรมราชโองการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ,4 และ 5 พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ศาลรธน.จึงสั่งไม่รับคำร้องกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของผู้ถูกต้อง ที่ 2 ,4 และ 5 และวันที่ 31 พ.ค 64 มีประกาศสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ถูกร้องที่ 5 มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นส.ส. ตั้งแต่ 29 พ.ค. 64 เพื่อให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปของพรรคพลังประชารัฐ  เลื่อนขึ้นมาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แม้ผู้ถูกร้องที่ 5 ลาออกจากส.ส.เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(3) แต่ยังมีเหตุให้พิจารณาวิฉัยคดีต่อไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 

จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า สมาชิกสภาพส.ส.ของผู้ถูร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด 

 

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกสภาพสส.สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4) เป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา96 (1) (2) (4) อนุมาตรา (6) ซึ่งบัญญัติว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และมาตรา 96 บัญญัติว่าผู้มีลักษณะต่อไปนี้ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

 

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส. ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่งส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลนั้นต้องมีความประพฤติและคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติ และศักดิ์ศรี ของสภาผู้แทนราษฎร 

 

ส.ส.จึงต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  มาตรา 96(2) และมาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า สมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่ในหมายของศาล โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน 

 

ข้อโต้แย้งที่ว่า การทำผิดอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1, 3 และ 5 มาจากการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมดังปรากฏในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหลายคำสั่ง

 

คำสั่งที่กล่าวอ้างเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แม้ปรากฏถ้อยคำว่า การชุมนุมเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใด เป็นหน้าที่ของผู้มีความรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จะต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายอื่นไว้ ดังนั้นข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น

 

ส่วนที่โต้แย้งว่า การที่ศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ไม่ใช่การคุมขังโดยหมายของศาลตามมาตรา 98(6) นั้น ก็ฟังไม่ขึ้น 

 

ส่วนที่โต้แย้งว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น 

 

ขณะที่ข้อโต้แย้งที่ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาและออกหมายขังระหว่างรออุทธรณ์เป็นการขัดขวาง ส.ส.จะมาประชุมสภานั้น บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างพิจารณาคดี แต่ในกรณีการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นจนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อ ไม่อาจอ้างความคุ้มครองได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน 

 

ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 98(4)(6) บัญญัติไว้เพื่อควบคุมคุณสมบัติของบุคคลก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง เท่านั้น เห็นว่า หาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(4)(6) ระหว่างดำรงตำแหน่ง ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงระหว่างดำรงตำแหน่งได้ ไม่ใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และข้อโต้แย้งที่อ้างว่าคดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นคดีถึงที่สุดนั้น ฟังไม่ขึ้น 

 

อาศัยเหตุผลข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3 ,5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4)(6) ประกอบมาตรา 96(2) และสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 7 เม.ย.64 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธ.ค.64

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้มีตำแหน่งของ ส.ส.เขตว่างลง ในพื้นที่เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา และให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย คือ วันที่ 8 ธ.ค. 2564  ส่วนตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีลำดับถัดไปของพรรคการเมืองนั้นมาเป็น ส.ส.แทน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐคือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม  ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจักพันธ์ ปิยะพรไพบูลย์