"ศรีสุวรรณ"ยื่นป.ป.ช สอบฮั้วประมูลท่อน้ำEECมีกลิ่น

03 ธ.ค. 2564 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 20:42 น.

"ศรีสุวรรณ"หอบหลักฐานพิจารณาประมูลประมูลท่อน้ำ EEC ของกรมธนารักษ์ ยื่น ป.ป.ช.สอบอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์และพวก 7 ราย ชี้มีกลิ่นฮั้วประมูล

วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานกว่า 300 หน้าเพื่อให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ กับพวก ซึ่วเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ภายหลังเร่งรีบไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย


           
สืบเนื่องมากจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้เห็นชอบแนวทางการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยวิธีคัดเลือก และผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่นอีกจำนวนรวม 7 คนเป็นกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจ คือ การตรวจพิจารณาร่างประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญา พิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมโครงการ และเจรจาเงื่อนไขในร่างสัญญากับผู้ได้รับการคัดเลือก ฯลฯ 
            

\"ศรีสุวรรณ\"ยื่นป.ป.ช สอบฮั้วประมูลท่อน้ำEECมีกลิ่น

ปรากฏว่า ได้มีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจและมีหนังสือเชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสาร จากภาคเอกชนที่สนใจในการลงทุน (Market Sounding) รวมทั้งผู้บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกรายจำนวน 5 ราย คือ บ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออิสท์ วอเตอร์ บ.ดับพลิวเอชเอ ยูทีลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บ.วิค จำกัด (มหาชน) และบ.วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด 

 

ต่อมามีการคัดเลือกให้คะแนนตามการเปิดซองการประกวดราคาพบว่าบ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด แต่คณะกรรมการกลับมีมติยกเลิกการประมูลดังกล่าวและให้ประมูลใหม่ โดยอ้างว่า TOR ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับรองแล้วนั้นไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้กำหนดและพิจารณามีมติรับรองมาแล้วก่อนที่จะให้เอกชนเสนอรายละเอียดเข้าร่วมประมูล

การใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯมีข้อพิรุธอีกมากมายหลายประการ เช่น เร่งรัดการพิจารณา หรือการแจ้งเอกชนให้เข้าร่วมประมูลอย่างเร่งรีบ โดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อหวังให้งานเสร็จก่อนที่อธิบดีกรมธนารักษ์เกษียณในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดหลายประการที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ฯลฯ 

 

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการเอาผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์กับพวกเสีย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของการใช้อำนาจที่มิชอบต่อไป