“ไทยสร้างไทย”ค้านแผนหยุดเดินรถไฟหัวลำโพงอย่าเอื้อนายทุนพาณิชย์

19 พ.ย. 2564 | 19:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 02:55 น.

“รณกาจ ชินสำราญ” พรรคไทยสร้างไทย ค้านแผนหยุดเดินรถไฟหัวลำโพง ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒธรรม ชี้ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนคนตัวเล็กเป็นหลัก อย่าเอื้อนายทุนเชิงพาณิชย์

นายรณกาจ ชินสำราญ ว่าที่ผู้สมัครรส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคม มีคำสั่งให้หยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกการหยุดเดินรถไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟกลางแห่งแรกของไทย ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน 

 

อีกทั้งไม่มีที่ไหนในโลกที่นำเอาสถานีรถไฟกลางมาหยุดเดินรถแล้วมาเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน โดยไม่แคร์ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ ซึ่งในหลายประเทศอย่างอังกฤษ อินเดีย ออสเตรเลีย ญึ่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน สถานีรถไฟกลางแห่งแรกยังคงใช้งานอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างสถานีกลางแห่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม 

 

นายรณกาจ กล่าวว่า การยกเลิกการเดินรถไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะจะกระทบผู้ใช้บริการอย่างมาก และการที่เปลี่ยนสถานีกลางเป็นสถานีรถไฟบางซื่อ ไม่มีความจำเป็นที่จะตัดสถานีรถไฟหัวลำโพงออกจากแผนการเดินรถไฟ 

                                รณกาจ ชินสำราญ

ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ของสถานีรถไฟหัวลำโพง ขอให้คำนึงถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่อาจที่สร้างทดแทนใหม่ได้ โดยต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ย่านหัวลำโพง ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ มีวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ ที่ควรค่าแก่การต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และต้องให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กในการทำมาหากิน ไม่ใช้จัดสรรพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ เอื้อประโยชน์ ให้นายทุนรายใหญ่เข้ามาแสวงหาประโยชน์

และหวังว่าจะไม่ซ้ำรอยกรณีทุบตึกสกาลา ที่ตอนแรกผู้พัฒนาพื้นที่บอกว่าจะไม่ทุบตึกทิ้ง แต่สุดท้ายก็ทุบทิ้ง จึงขอให้ทุกคนร่วมกันสอดส่องอย่าให้ใครอาศัยจังหวะนี้ฉกฉวยโอกาสเอื้อประโยชน์ให้นายทุน

 

นอกจากนี้ นายรณกาจ ยังเห็นว่า ต้องจัดระบบขนส่งมวลชนเข้ามาภายในเมืองชั้นใน โดยต้องไม่ปล่อยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในแง่การเดินทางและการขนส่ง

                     รณกาจ ชินสำราญ

พรรคไทยสร้างไทย ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการรถไฟ หากไม่มีการเดินรถยังสถานีรถไฟหัวลำโพงอีก จึงขอวิงวอนให้ให้ยังคงแผนการเดินรถไปยังหัวลำโพง เหมือนกับนานาอารยประเทศที่สถานีกลางแห่งแรกยังคงมีการใช้งานอยู่ อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่ต้องให้สอดคล้องกับมิติประวัติศาสตร์ โดยคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด