“นายกฯ”ดัน 37 จังหวัด เป็น“เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ภายในปี 2579

09 พ.ย. 2564 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 16:40 น.

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯพอใจภาพรวมความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทย หลังเปิดประเทศ ตั้งเป้าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ใน 37 จังหวัด

วันที่ 9 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหะการ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เน้นสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ใน 37 จังหวัดด้วย

“นายกฯ”ดัน 37 จังหวัด เป็น“เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ภายในปี 2579

 

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้รับทราบปัญหาและข้อห่วงใยของผู้ประกอบการ ทั้งปัญหาต้นทุนแพงจาก ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการลักลอบนำแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมกำชับให้ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดีขณะนี้

 

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่สำคัญเป็นการปรับตัวในทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม

 

องค์ประกอบของดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น มาตรการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งสินค้าประเภทคงทนอาทิ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น และสินค้าประแภทไม่คงทน เช่น อาหารและยา

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าแฟชั่น สำหรับเทศกาลปีใหม่ด้วย ผลักดันให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 93.72 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49 เมื่อเทียบกันกับเดือนก่อน โดย 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 6.10 โดยเฉพาะ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.12 เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.61

 

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.24 ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.32 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน บุหรี่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 71.29 จากการเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาก หลังรับข่าวการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม ที่ผ่านมา