"วิโรจน์"ชำแหละมาตรฐาน SHA เอื้อรายใหญ่ กีดกันร้านค้ารายเล็ก เปิดช่องรีดไถ

07 พ.ย. 2564 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2564 | 19:55 น.

เปิดประเทศ “วิโรจน์”ชำแหละมาตรฐาน SHA ช้าสมชื่อ เอื้อรายใหญ่ กีดกันประกอบการรายเล็ก เปิดช่องเจ้าหน้าที่รีดไถ เห็นด้วยเปิดเรียน On-Site แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ปรับหลักสูตรเรียนออนไลน์ ต้องคุมปริมาณการบ้านที่จริงจัง

วันนี้(7 พ.ย.64 ) ที่อาคารอนาคตใหม่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสถานการณ์โควิด-19 หลัง “เปิดประเทศ” รวมถึงข้อเสนอ

 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การกำหนดให้ร้านอาหารและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต่างๆ ลงทะเบียน เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน SHA ( Amazing Thailand Safety & Health Administration) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนำมาเป็นเงื่อนไขในการเปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน เป็นมาตรการที่รัฐบาลทำโดยไม่มีการวางแผนรองรับ เพราะประกาศล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน เป็นการกระทำอย่างไร้ยุทธศาสตร์ จึงทำให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการอย่างมาก

เช่น ระบบการลงทะเบียนล่าช้า บางรายลงทะเบียนไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่มีกำลังคนเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน ซึ่งประชาชนจำนวนมากไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงช้า เพราะ SHA ถ้าอ่านดีๆ ก็อ่านว่า ‘ช้า’ อยู่แล้ว

 

“ที่สำคัญคือหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน SHA ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้กับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่เท่านั้น หลายเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขที่ร้านอาหาร และสถานประกอบการท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติได้ หากรัฐบาลยืนยันที่จะใช้หลักเกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์เดียวทั่วประเทศ เท่ากับว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้า อุ้มแต่โรงแรม และผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น ลอยแพร้านอาหารและผู้ประกอบการคนตัวเล็กตัวน้อยในท้องถิ่น”

นอกจาก SHA แล้ว รัฐบาลยังกำหนดมาตรฐาน SHA Plus ซ้อนขึ้นมาอีก โดยเพิ่มเงื่อนไขที่พนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 70% เข้าไป การกำหนดมาตรการ SHA Plus เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แต่ถ้าจะทำอย่างมียุทธศาสตร์ รัฐบาลต้องมีมาตรการการจัดฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการในย่านเศรษฐกิจ และย่านท่องเที่ยวต่างๆ ควบคู่กันไป ไม่ใช่กำหนดแต่เงื่อนไข แล้วก็ลอยแพให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมไปดิ้นรนหาวัคซีนฉีดกันเองแบบที่เป็นอยู่

 

“แทนที่จะเป็นมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กลับกลายเป็นมาตรการที่กีดกันทางการค้า ทำร้ายผู้ประกอบการขนาดย่อม ซ้ำยังเป็นการเอื้อให้เจ้าหน้าที่นอกรีต ออกรีดไถซ้ำเติมผู้ประกอบการร้านค้า ในยามทุกข์ยามยากอีกด้วย”

 

สำหรับข้อเสนอ นายวิโรจน์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรฐาน SHA เพียงมาตรฐานเดียว โดยปรับหลักเกณฑ์ที่ร้านอาหาร และสถานประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นสามารถปฏิบัติได้ โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขึ้นทะเบียนแทน ททท. ส่วนเงื่อนไขอัตราการฉีดวัคซีน 70% ที่เพิ่มขึ้นไป ให้รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเข้าไปในมาตรฐาน SHA เดิม โดยมีมาตรการการจัดฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ในย่านเศรษฐกิจและย่านการท่องเที่ยวควบคู่ไป และกำหนดให้ผู้ประกอบการเร่งนำเอาพนักงานมารับการฉีดวัคซีนให้มากกว่า 70% ภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด

 

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยืนยันว่า พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการเปิดเรียนแบบ On-Site เนื่องจากมีงานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า No Causal Effect of School Closures in Japan on the Spread of COVID-19 in Spring 2020 ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Medicine ระบุว่า การปิดโรงเรียนไม่ได้มีผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของนักเรียน และความสบายใจของผู้ปกครอง ควรปรุงหลักเกณฑ์ให้รัดกุม ภายใต้เงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ไม่ตึงตัวหรือหย่อนเกินไป ดังต่อไปนี้

 

1. กำหนดให้ครูและบุคลากรในทุกพื้นที่ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ครูประจำชั้น และครูผู้สอนที่ใกล้ชิดนักเรียนต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มครบทุกคน ครูที่ฉีดวัคซีน Sinovac หรือวัคซีนเชื้อตาย แม้ว่าจะฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ควรได้รับการฉีดเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์โดสด้วย

 

2. เร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน ภายใต้คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ปัจจุบันมีผลการทดสอบการวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี ในปริมาณ 1/3 โดสของผู้ใหญ่ ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงให้กับครู บุคลากร และนักเรียน ได้ครอบคลุมเพียงพอ ก็จะทำให้การติดเชื้อ COVID-19 ลดความกังวลลง ทำให้การเจ็บป่วยของโรคเป็นการป่วยไข้ตามภาวะปกติวิสัย (Normality) ที่ควบคุมได้

 

3. งดพิธีกรรมและกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของนักเรียนในที่แออัด เช่น เข้าแถวตอนเช้า กิจกรรมลูกเสือ เป็นต้น

 

4. หากนักเรียนเป็นไข้ เจ็บป่วย ให้พักรักษาตัวที่บ้าน หากพบนักเรียนติดเชื้อ COVID-19 ให้ตรวจ ATK นักเรียนที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด

 

5. มีการตรวจ ATK กับครู และบุคลากรของโรงเรียนทุก 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ อาจพิจารณางดการตรวจได้ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ ATK ให้กับโรงเรียน

 

 6. กระทรวงศึกษาธิการ ควรเป็นผู้ผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Online พร้อมเอกสารประกอบการสอนต่างๆ ที่มีคุณภาพที่ดีกว่า DLIT หรือ DLTIV เพื่อให้นักเรียนทุกโรงเรียนใช้เรียนได้ ไม่ควรปล่อยให้แต่ละโรงเรียนจัดทำกันเอง ซึ่งเป็นภาระของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก เป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และไม่มีความประหยัดต่อขนาด หรือที่เรียกว่า Economy of Scale

 

7. ควรปรับปรุงหลักสูตรโดยมีการลดวิชาเรียนลง จัดการเรียนการสอนเฉพาะวิชาหลัก สำหรับวิชาอื่นๆ ให้จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อลดเวลาเรียน และสามารถแบ่งกลุ่มสลับวันเรียนเพื่อลดความหนาแน่นในโรงเรียนได้ มีนโยบายในการควบคุมปริมาณการบ้านที่จริงจัง ไม่ให้การบ้านและการทำรายงานเป็นภาระที่ซ้ำเติมทั้งเด็กและครู จนเสียสุขภาพจิต และมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ รวมทั้งควรมีคำสั่งชัดเจนให้ปรับวิธีการประเมินผลให้มีความยืดหยุ่น โดยไม่จำเป็นต้องจัดสอบในทุกวิชา

 

“การปรับตัวทางการศึกษาในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ไม่ใช่การเอารูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมที่ทวนกระแสแห่งยุคสมัยยัดเข้าไปในระบบออนไลน์ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการจัดการเรียนการสอนใหม่เสียหมด แล้วนำเอาระบบออนไลน์มาช่วยสนับสนุน ส่วนการเปิดเรียนแบบ On-Site นั้นมีผลต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนอย่างมาก เพราะการทำมาหากินหลายอย่างผูกอยู่กับการเปิดเรียน ทั้งการขนส่งสาธารณะ การค้าขายอาหาร ฯลฯ รวมทั้งต้องยอมรับว่า โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่การจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ เท่านั้น แต่เป็นที่สถานที่ปลอดภัยของลูก ที่ทำให้พ่อแม่สามารถออกไปประกอบอาชีพ ทำมาหากินหารายได้ ได้อย่างสบายใจอีกด้วย” นายวิโรจน์ กล่าว