“คดีฟุตซอล”ตัดเส้นเลือดใหญ่เขย่าพลังประชารัฐ

05 พ.ย. 2564 | 07:30 น.
1.6 k

เมื่อมีปฏิบัติการรับฟ้องจากศาลในคดีฟุตซอล จะเป็นการเขย่าพรรคพลังประชารัฐอีกระลอก เป็นการเขย่าที่เกิดจากสนิมเนื้อในตน

คำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ “ศาลฎีกานักการเมือง” ที่ประทับรับฟ้องคดีทุจริตโครงการสนามฟุตซอล ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการ “เขย่าเส้นเลือดใหญ่” ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

 

เกมการ “ตัดเส้นเลือด” จะมีการดุลอำนาจต่อไปอย่างไร

 

สถานการณ์ร้อนตอนนี้ไม่มีอะไรเกินเรื่อง “คดีฟุตซอล” ไม่ใช่แค่คดีฟุตซอล หรือ คดีทางการเมืองอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบทางการเมือง เป็นเรื่องใหญ่ที่มีคดีว่าด้วยเรื่องของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เพื่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่เขตการศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ปรากฏว่า 1.มีการผันงบประมาณไป แล้วจัดซื้อจัดจ้างมีการทุจริต 2.นักการเมืองเข้าไปกำกับดูแลและก่อให้เกิดปัญหา คดีนี้ผ่านมาร่วม 9 ปี

 

เป็นการดำเนินการแปรญัตติงบประมาณ สั่งการให้ข้าราชการบรรจุงบประมาณไปในแผนงานของหน่วยงานของรัฐที่ต้องการรับงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำเรื่อง จากนั้นให้พ่อค้าธุรกิจผู้รับเหมาไปดำเนินการ คดีนี้สุดท้ายมีการร้องป.ป.ช. จนนำไปสู่การชี้มูล

 

3 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังศาลฎีกานักการเมืองรับฟ้องคดีซุตซอล ประกอบไปด้วย 1. วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา และ 3.ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา

 

ทั้ง 3 ส.ส.เป็นคนในตระกูล "รัตนเศรษฐ" ทั้งสิ้น

                          “คดีฟุตซอล”ตัดเส้นเลือดใหญ่เขย่าพลังประชารัฐ

เกมที่ยื้อมาตั้งแต่ต้น ใน “คดีฟุตซอล” ที่จะนำไปสู่การพิจารณาคดีนั้น “จบ” เพราะหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส. 14 ข้อกล่าวหาในคดีล้วนแล้วแต่เป็นคดีความที่ใหญ่

 

และผลของการประทับรับฟ้องทำให้พ้นการทำหน้าที่ ส.ส. ทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนทันที การพ้นหน้าที่ในระลอกนี้แม้แต่ “เจ้าตัว” ก็ยังงง...

 

วิรัช รัตนเศรษฐ เป็นส.ส.พลังประชารัฐ เป็นประธานวิปรัฐบาลทำหน้าที่จนเวลาสุดท้ายของตนเอง ในวันที่ 3 พ.ย.64

 

วิรัช ออกมาให้สัมภาษณ์สะท้อนถึงความยังไม่รู้ เพราะเมื่อวันที่ 2 พ.ย. เวลา 15.00 น. ยังเข้าร่วมประชุมพรรคกับหัวหน้าพรรค และเสนอเรื่องเงื่อนไขในการทำงานของส.ส.ควรจะเป็นเช่นไร

 

เกมนี้ในทางการเมืองเขาบอกว่า มีรัศมีทำการอะไรบางอย่าง

                                      “คดีฟุตซอล”ตัดเส้นเลือดใหญ่เขย่าพลังประชารัฐ

เพราะฉะนั้นคดีสนามฟุตซอล Game Over แล้ว แต่ที่หลายคนตั้งคำถาม แล้ว 3 ช. (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์-อธิรัฐ รัตนเศรษฐ)  จะ Game Over ไหม? เพราะ วิรัช เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของ 3 ช. และอยู่ในขั้วของพลังประชารัฐอย่างชัดเจน

 

เมื่อแกนนำหนึ่งคนของ 3 ช. ถูก Game Over คดีฟุตซอลนั้น ทำให้ 3 ช. ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของกลุ่มในพลังประชารัฐจะกระทบกระเทือนแค่ไหน

 

คำสั่งประทับรับฟ้องในคดีฟุตซอล ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อ วิรัช รัตนเศรษฐ ไม่เพียงแค่ทำให้คดีความเรื่องนี้ได้ข้อยุติแล้วไปต่อสู้กันในชั้นศาล

 

แต่กำลังดำเนินการอยู่หนึ่งเรื่อง นั่นคือ ทำให้กระบวนการทำงานภายในพรรคพลังประชารัฐสะเทือนไปเช่นเดียวกัน เป็นขุนพลสำคัญที่เป็นประธานวิปรัฐบาลคุมเสียงในสภา เกิดขึ้นในช่วงเพิ่งเปิดสภา เปิดสภาครั้งนี้อ่อนแอมาก เพราะมีกฎหมายสำคัญหลายอย่างที่จะเข้า

 

การประทับรับฟ้องและมีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.” ไม่เพียงทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หายไป 3 เสียงเท่านั่น แต่เหนือกว่านั้นคือ “เส้นเลือดใหญ่” ในการจัดการบริหาร “เกมทางการเมือง” และการดูแลในเรื่องข้อกฎหมาย ในเรื่องของงานสภาหายไปทันที เพราะ วิรัช อยู่ในกลุ่ม 3 ช. เส้นเลือดใหญ่ เป็นมันสมองในการเดินเกมสำหรับ 3 ช.

 

ชะตากรรมของ 3 ช. ตอนนี้ต้องบอกว่าอ่อนแรง แต่ในเกมการเมืองจะอ่อนแรงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ เพราะ 3 คนนี้ไม่ธรรมดา แต่ที่น่าจับตา คือ อนาคตของส.ส.ในกลุ่มของ วิรัช จะออกมาทางไหน

 

เพราะฉะนั้นกระบวนการหลังจากนี้ไป จะไม่สะท้านเฉพาะเส้นเลือด แต่สะท้อนไปที่ “ลูกชาย” อธิรัฐ รัตนเศรษฐ ที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะตอนนี้กระแสการ “ปรับ ครม.” ยังมีอยู่

 

แต่มี “ผู้ใหญ่” บางคนในพลังประชารัฐเกิดความคิดว่า ควรรื้อ “โควตารมต.” จัดสรรกันใหม่ โดยเฉพาะโควตาในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ มาเช็กกันใหม่ว่าส.ส.ในสังกัดตัวเองนั้นเท่าไหร่กันแน่ ถ้าส.ส.หายไป 3 เสียง เท่ากับครม.ต้องมาคิดกันใหม่

 

เกมการเมืองหลังจากนี้ไป เมื่อมีปฏิบัติการรับฟ้องจากศาลใน “คดีฟุตซอล” จะเป็นการ “เขย่าพรรคพลังประชารัฐ” อีกระลอก เป็นการเขย่าที่เกิดจากสนิมเนื้อในตน

 

เกมเหล่านี้กำลังจะทำให้พรรคพลังประชารัฐปรับอีกระลอก นั่นคือตำแหน่ง “ประธานวิปรัฐบาล” นายกฯ ต้องเป็นคนเซ็นลงนามแต่ต้องปรึกษากับพรรคแกนนำของรัฐบาล นั่นคือ นายกฯ ต้องปรึกษากับ “ลุงป้อม” ว่าจะเอาใคร

 

และล่าสุดโผก็มาล็อกที่ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสายตรงของนายกฯ

 

ดุลอำนาจหลังจากนี้ไปในพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นแบบนี้

 

“เกมการตัดเส้นเลือด” ผ่านกระบวนการประทับรับฟ้องในคดีฟุตซอล กระแทกเข้าไปในมิติการเมือง 2 เรื่อง อาจจะไม่เกี่ยวพันกัน แต่เกี่ยวพันกันโดยพฤตินัยที่ชัดเจน การใช้สถานที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมวิปรัฐบาลต่อจากนี้ไป เป็นการสะท้อนดุลอำนาจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด...

 

ายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,729  หน้า 12 วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564