“บิ๊กตู่”โพสต์โลกกำลังป่วย ห่วงไทยกระทบโลกร้อน ลำดับ9ของโลก

04 พ.ย. 2564 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 23:05 น.

“บิ๊กตู่”โพสต์โลกกำลังป่วย ไม่เกินจริง คาดการณ์ไทยจะได้รับผลกระทบโลกร้อนลำดับที่ 9 ของโลก ซ้ำด้วยเสี่ยงน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุรุนแรง

วันที่ 4 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า
"พี่น้องประชาชนที่รักครับ

 

คำว่า “โลกกำลังป่วย” นั้น ไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินจริงเลย ไม่เพียงแต่วิกฤตโควิดที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกอยู่ในขณะนี้ โดยส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคนไทย ทุกอาชีพ ทุกวัย และ ต่างก็รู้ซึ้งกันดีแล้ว

 

นอกจากนี้ “ภาวะโลกร้อน” ก็เป็นอีกภัยเงียบ ที่กำลังส่งเสียงคำราม ดังขึ้นๆ ทุกวัน จนเป็น Code Red ที่ส่งผลต่อความผิดปกติทางธรรมชาติที่เราเห็นได้ชัด ดังนั้น ผมและผู้นำจาก 197 ประเทศทั่วโลก จึงได้มาทำ “ภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาติ” ร่วมกัน ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

 

ท่านรู้หรือไม่ว่า หากปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลก 1.1 เมตร ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงจากน้ำท่วมตามแนวชายฝั่งและการทรุดตัวของดิน
โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด เป็นลำดับที่ 9 ของโลก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุรุนแรง ที่ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนด้วย

 

“บิ๊กตู่”โพสต์โลกกำลังป่วย ห่วงไทยกระทบโลกร้อน ลำดับ9ของโลก

 

ผมถือว่าการมาประชุม COP26 ในครั้งนี้ เป็นภารกิจที่สำคัญเพื่อลูกหลานและอนาคตของประเทศไทย หากเราไม่เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ วันหน้าอาจจะสายเกินไป ที่ผ่านมารัฐบาลนั้นตระหนักดีถึงภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ร้ายแรงนี้ และได้พยายามอย่างเต็มที่ จนบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้

 

ในการประชุม ครม.ทุกครั้ง จะต้องมีวาระสำคัญเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งการติดตามเร่งรัดโครงการสืบเนื่อง และการนำเสนอโครงการใหม่ที่ป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต ผลสำคัญที่ผมอยากจะเรียนแจ้งก็คือ เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งได้จริง คิดเป็นร้อยละ 17.49 จากกรณีปกติ หรือคิดเป็น 64.20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 2 เท่า และเร็วกว่าแผน 1 ปี

 

แต่เราต้องไม่พอใจเพียงเท่านี้ รัฐบาลจึงเห็นชอบให้มีการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “BCG” อย่างเต็มกำลัง ซึ่งก็คือแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ โดยผมได้นำเสนอนโยบายนี้ต่อผู้นำทั่วโลกในที่ประชุม COP26 นี้ และผลักดันให้เป็นวาระหลักในการประชุม APEC ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้าอีกด้วย

 

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีความมุ่งมั่นในการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์ฟาร์ม ไบโอดีเซล แทนพลังงานจากฟอสซิล ในรูปแบบเดิมที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้วิกฤต climate change เช่น การผลิตและการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศให้มากขึ้น เป็นต้น
ภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ ถือว่าเป็นภารกิจต่อเนื่องยาวนาน ที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ และเราทุกคน โดยเฉพาะพลังบริสุทธิ์จากเยาวชน ที่จะทำงานเชื่อมโยงกับนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ ผ่านกลไกและรูปแบบต่างๆ

 

เช่น การสร้างความตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาโลกร้อน และจิตสำนึกสีเขียวที่รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ การสร้างนวัตกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นมิตรต่อโลก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนความสมดุลของการปกป้องและไม่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งเรารอช้าไม่ได้อีกแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตของโลก และของลูกหลานเราทุกคนครับ"