เลือกตั้งอบต. 2564 พึงระวังหาเสียงแบบนี้เสี่ยง !

22 ต.ค. 2564 | 09:00 น.
2.3 k

เช็คที่นี่ เลือกตั้งอบต. 2564 กกต. ย้ำ กฎเหล็ก ข้อห้ามหาเสียงเลือกตั้ง "ผู้สมัครนายก อบต.-ส.อบต." พึงระวังหาเสียงแบบไหน "ทำได้-ไม่ได้" สรุปให้ครบที่นี่

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งอบต.2564 ซึ่งกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. 2564 นี้นั้น ปรากฎความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้ต้องพึงระวัง โดย เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญหลายประการด้วยกัน

ทั้งนี้ ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 มีดังนี้

1.ห้ามผู้สมัครดำเนินการ หรือ ยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดดำเนินการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง 

2.ห้ามผู้สมัครดำเนินการ หรือ ยินยอมให้พรรคการเมือง หรือผู้ใดดำเนินการ ดังนี้

  • แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงโดยวิธีการวางหรือโปรย ในที่สาธารณะ
  • แจกจ่ายเอกสาร วีดิทัศน์ โดยไม่ระบุรายละเอียด ไม่ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิต
  • ใช้พาหนะต่าง ๆ หาเสียงหรือจัดสถานที่เวทีหาเสียง โดยไม่แจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) ทราบ
  • ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือปลุกระดม หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่
  • ช่วยเหลือเงินทรัพย์สินต่าง ๆ หรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินให้แก่ผู้ใดตามปกติประเพณีต่าง ๆ
  • นำข้อมูลของพรรคการเมืองหรือบุคคลมาหาเสียงโดยไม่ได้รับความยินยอม หาเสียง หรือนำชื่อสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือภาพบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพรรคการเมืองหรือบุคคลนั้น
  • สำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะชี้นำเพื่อผลต่อการลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
  • เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง
  • จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนี้ 

บทกำหนดโทษ 

ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 2562 มาตรา 66 ระบุว่า หากฝ่าฝืนตามมาตรา 66 ผู้สมัครต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังได้กำหนดโทษกรณีความผิดซื้อสิทธิขายเสียงเอาไว้ด้วย โดยมีบทลงโทษทั้งฝั่งของ ผู้ให้ และ ผู้รับ

ผู้ซื้อเสียง มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ส่วน

ผู้ขายเสียง มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี 

เลือกตั้งอบต. 2564 พึงระวังหาเสียงแบบนี้เสี่ยง !

เลือกตั้งอบต. 2564 พึงระวังหาเสียงแบบนี้เสี่ยง !

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง